7 พ.ค.2565 – นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมประชุมเพื่อรับทราบสถานการณ์การลงทุนอสังหาริมทรัพย์และการบริหารจัดการกองทุนของสำนักงานประกันสังคม ณ อาคาร Marina one
นายสุชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาระบบการลงทุนอสังหาริมทรัพย์และการบริหารจัดการกองทุนของสำนักงานประกันสังคมสิงคโปร์ พบว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง หรือ Central Provident Fund (CPF) ซึ่งมีภารกิจและการดำเนินงานเหมือนกับกองทุนประกันสังคมของไทย ทั้งนี้ CPF ถูกจัดอันดับให้เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดีที่สุดในเอเชีย และลำดับ 7 ของโลก โดยดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับคนทำงาน มีการเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง และลูกจ้าง ทั้งนี้ อัตราขึ้นอยู่กับเงินเดือนและอายุของลูกจ้าง ที่ประมาณร้อยละ 37 ของเงินเดือน (นายจ้างร้อยละ 17 และ ลูกจ้างร้อยละ 20) และลดลงแบบขั้นบันไดเมื่ออายุเกิน 55 ปี โดยจะแบ่งสิทธิประโยชน์ เป็น 3 ส่วน คือ 1) บัญชีทั่วไป (Ordinary account) วัตถุประสงค์เพื่อที่พักอาศัย การลงทุน และการศึกษา) 2) บัญชีพิเศษ (Special Account) เพื่อการเกษียณอายุและการลงทุนหลังเกษียณ และ 3) รักษาพยาบาล (Medisave Account)
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ กระทรวงแรงงานให้ความสนใจกับเรื่องการสนับสนุนให้ประชาชนมีที่พักอาศัย โดยประชากรของสิงคโปร์กว่าร้อยละ 80 มีบ้านเป็นของตนเอง กระทรวงแรงงานจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาสิทธิประโยชน์ในเรื่องนี้ให้กับผู้ประกันตน โดยศึกษาจากแนวทางของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอนุญาตให้ใช้เงินบางส่วนในบัญชีประกันสังคมทั่วไป เพื่อใช้ในการซื้อที่พักอาศัย รวมทั้งมีโครงการบ้านจากรัฐบาลที่ราคาไม่แพงให้สามารถเลือกซื้อได้ โดยกระทรวงแรงงานจะนำข้อมูลที่ได้ในครั้งนี้ไปศึกษาเพื่อปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนและคนทำงาน เป็นการสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และลดภาระค่าใช้จ่ายของคนทำงาน ที่ต้องผ่อนชำระค่างวด โดยไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และส่งต่อให้ทายาทได้