เป็นครูที่ทำหน้าที่ยิ่งกว่าครู ให้ความรู้ทั้งในห้องเรียนและชุมชน เป็นแบบอย่างทำความดีให้สังคม เตรียมเข้ารับรางวัล 25 พ.ค.นี้
ดร.ศรีชัย พรประชาธรรม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เปิดเผยว่า จากที่โครงการพระเมตตาสมเด็จย่า ได้ประกาศผลการพิจารณาและตัดสินรางวัลครูดีเด่น “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ประจำปี 2562รุ่นที่ 11ซึ่งมีผู้ได้รับคัดเลือกจาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ ครูจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. 3 ราย โรงเรียน ตชด. 3 ราย และในส่วนของสำนักงาน กศน. 3 ราย ได้แก่ ครูนันธิดา จันทร์เปล่ง ศศช.บ้านอายิโก๊ะ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ครูประภาพร เพ็ชรวุฒ ศศช.บ้านปะไรโหนก อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และ ครูนิลาวรรณ อินตา ศศช.บ้านแม่จอเหนือ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน โดยโครงการพระเมตาสมเด็จย่า มีกำหนดการจัดพิธีมอบ “รางวัลครูเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ประจำปี 2562 ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ ณ สำนักงานมูลนิธิ พอ.สว. กรุงเทพฯเพื่อเชิดชูเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ครูที่ปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งเผยแพร่ผลงานคุณความดีผู้ที่ได้รับรางวัลให้เป็นแบบอย่างการทำความดีให้ปรากฏแก่ครู นักเรียน ประชาชนทั่วไป
เลขาฯกศน. กล่าวว่า ขอชื่นชมยินดีกับครูทุกคนที่เสียสละปฏิบัติหน้าที่ในถิ่นทุรกันดารอย่างไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก เป็นแบบอย่างของการพัฒนาเยาวชนและประชาชนให้เป็นคนดีและคนเก่ง ตามปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทรทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
จุดเด่นของครู กศน.ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ นางสาวนิลาวรรณ อินตา อายุ 48 ปี ปฏิบัติหน้าที่ครูอาสาสมัครมายาวนานถึง 24 ปี ได้ส่งเสริมการเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้ชุมชนปลูกผักผลไม้ เลี้ยงสัตว์ และขุดบ่อเลี้ยงปลา เป็นการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจัดทำแผนที่ 3 มิติ ของชุมชนทุกหลังคาเรือน เพื่อสำรวจปัญหาและหาแนวทางการช่วยเหลือด้านต่างๆ ของแต่ละครัวเรือน และเป็นที่รักใคร่ของคนในชุมชนเห็นได้จากการที่ชาวบ้านร่วมมือในการช่วยเหลืองานด้านต่างๆ ของ ศศช. อีกทั้งเป็นผู้ประสานหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยเหลือชุมชนในทุกด้านที่ชุมชนต้องการ ลูกศิษย์ที่เคยสอนมีอาชีพที่มั่นคงและมีจิตอาสา กลับมาพัฒนาภูมิลำเนาจำนวนมาก
ส่วนนางสาวประภาพร เพ็ชรวุฒ อายุ 47 ปี 23 ปี ในบทบาทครูอาสาสมัคร ผู้ส่งเสริมงานด้านสาธารณสุข ทำให้ชุมชนบ้านประไรโหนกที่อยู่ห่างไกล ติดชายแดนไทย – พม่า ไม่มีผู้ใดเป็นไข้เลือดออกและมาลาเลีย ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน เช่น การทำไม้กวาดดอกหญ้า การทอเสื่อกกวัตถุดิบในพื้นที่ สอนให้ชุมชนจัดทำบันทึกบัญชีครัวเรือน อีกทั้งประสานหน่วยงานภายนอกเข้ามาบูรณาการพัฒนาชุมชน และเป็นที่รักของคนในชุมชน ปัจจุบันลูกศิษย์ เป็นผู้นำชุมชนในพื้นที่จำนวนมาก
สุดท้ายนางสาวนันธิดา จันทร์เปล่ง อายุ 44 ปี ปฏิบัติหน้าที่ครูอาสาสมัครมา 11 ปี นำนวัตกรรมการสอนการผลิตปุ๋ยชีวภาพจากไส้เดือนพันธุ์ African Night Crawler ทำให้ได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนที่มีคุณภาพสูง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกร ไก่พันธุ์เนื้อ และปลาน้ำจืด รวมถึงการประสานหน่วยงานภายนอกส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนและบริหารงานยุวกรรมหย่อมบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่รักใคร่เชื่อถือของชุมชน ครูทั้ง 3 ท่านนี้ ถือเป็นแบบอย่างที่ดีของพวกเราชาว กศน.ในการทำงานเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ