2อาจารย์จุฬาฯเผยนาทีระทึกดำน้ำวิจัยผลกระทบโลกร้อน-ขยะพลาสติกต่อสัตว์ที่ขั้วโลกใต้ทะเลอาร์กติก ทั้งน้ำทะเลเย็นเกือบติดลบศูนย์องศา ผงะหนีหมีขาว-ช้างน้ำ เกือบตกเหวลึกใต้ก้นทะเล อึ้ง!สัญญาณเตือนวิกฤติ หมีขาวนักล่าต้องมากินสาหร่ายประทังชีพ พบความจริงวันนี้ขั้วโลกร้อนขึ้นมากจากภาวะโลกร้อน
รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ และรศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 นักวิจัยไทยพร้อมผู้ร่วมคณะจากประเทศไทยรวม 13 ชีวิต ได้เดินทางถึงพื้นที่ขั้วโลกเหนือ เพื่อดำน้ำศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ผลกระทบของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่ขั้วโลกเหนือการวิจัย ในใต้ทะเลอาร์กติก ภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย สถานเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.วรณพกล่าวว่า หลังจากเดินทางมาถึงพื้นที่ได้เริ่มวิจัยตามแผนงาน แต่หลายครั้งไม่สามารถปฏิบัติงานได้ เพราะคลื่นแรง หรือน้ำขุ่นมากอันตรายต่อการการดำน้ำและเก็บตัวอย่างใต้ทะเล หรือแม้กระทั่งหมีขาวที่กำลังว่ายน้ำอยู่ ก็เป็นอุปสรรคหนึ่งในการทำงานเช่นกัน
หมีขั้วโลกผอมโซจากนักล่าต้องกินสาหร่ายแทน
“จากการสำรวจบนบกพบสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่ขั้วโลกเหนือคือ คณะของเราพบเห็นแม่หมีขาวกับลูกกำลังกินพวกมอสและพืชเป็นอาหาร จากปกติหมีขาวเป็นสัตว์ผู้ล่าที่กินเนื้อสัตว์พวกแมวน้ำเป็นอาหาร ประกอบกับจากการผ่ากระเพาะซากหมีขาวของนักวิจัยในพื้นที่ พบปริมาณของพืชมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันหมีขาวไม่สามารถล่ากินอาหารสัตว์ทะเลอื่นได้อย่างเพียงพอ ทำให้ต้องหันมากินพวกพืชบนบกแทน โดยการกินพวกพืชเป็นอาหารมากๆจะทำให้หมีขาวมีสภาพร่างกายอ่อนแอและไม่แข็งแรง
นอกจากนี้ การดำน้ำสำรวจในพื้นที่ขั้วโลกเหนือยังพบว่ามีปริมาณสาหร่ายจำนวนมาก อาจจะมาจากการที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้น้ำทะเลบริเวณนี้อุ่นขึ้นทำให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้ดี ขณะเดียวกันยังพบแมงกะพรุน และหวีวุ้น (สัตว์จำพวกแมงกะพรุน) อยู่ในน้ำทะเลมากแสดงว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่ขั้วโลกเหนือสูงขึ้นจากในอดีต”
ด้านรศ.ดร.สุชนากล่าวว่า จากการพูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ของประเทศนอร์เวย์ พบว่าในช่วง2-3ปีที่ผ่านมา ในช่วงฤดูหนาว หิมะตกน้อยลง น้ำแข็งไม่หนาพอ จึงทำให้ไม่สามารถใช้รถขับบนหิมะ หรือSnow mobileวิ่งได้ และเสี่ยงสูงต่อการที่มีหิมะถล่มในพื้นที่ต่างๆ และเกิดน้ำท่วม แสดงให้เห็นว่าที่ขั้วโลกเหนือ ณ ปัจจุบัน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปกติมากเนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งหรือหิมะมีน้อยมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน น้ำแข็งละลายไปเยอะมากกว่าปกติ
“อุณหภูมิที่ขั้วโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าอุณหภูมิปกติ มากกว่า 5 องศาเซลเซียส ทำให้พฤติกรรมการกินอาหารของสิ่งมีชีวิตต่างๆที่ขั้วโลกเปลี่ยน สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถที่จะหาอาหารได้เพียงพอ การดำน้ำที่ขั้วโลกเหนือในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ต้องเผชิญกับน้ำทะเลที่เย็นจัด อุณหภูมิเกือบศูนย์องศา แต่ต้องระวังหมีขาวและช้างน้ำ(walrus) ขั้วโลกด้วย เพราะอาจจะเกิดอันตรายถ้าไปดำใกล้
ที่สำคัญมีอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อทีมดำน้ำลึกลงไปประมาณ2-3เมตรตามปกติน้ำที่ระดับน้ำลึกลงไปน้ำทะเลต้องใสมากขึ้น แต่พื้นที่นั้นกลับขุ่นมากกว่าปกติ เมื่อดำลงไปที่ความลึกระดับ10เมตรซึ่งเป็นระดับที่มีน้ำขุ่นมากและมีทัศนะวิสัยการมองเห็นใต้น้ำเพียง 0 เมตร อันตรายมากจนแอบคิดถอดใจที่จะได้กลับขึ้นสู่ผิวน้ำ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าหากเรามองไม่เห็นแล้วดำน้ำต่อไปอาจจะพลาดตกไปในส่วนลาดชันใต้ทะเลที่มีระดับความลึก40เมตรได้ แต่สุดท้าย ทุกคนก็สามารถที่จะขึ้นมาจากน้ำได้อย่างปลอดภัย”
ทั้งนี้ การสำรวจวิจัยดังกล่าวนอกจากจะเป็นการศึกษาผลของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินที่มหาสมุทรอาร์กติก แล้วยังเป็น สร้างความร่วมมือในการทำวิจัยที่อาร์กติกระหว่างประเทศไทย จีน และราชอาณาจักรนอร์เวย์ รวมถึงสร้างความตระหนัก จิตสำนึก และความตื่นตัว ในผลของภาวะโลกร้อนและขยะทะเลที่มีต่อมหาสมุทรอาร์กติกและโลก ให้กับประชาชนและเยาวชนไทย โดยจะสำรวจวิจัยเสร็จสิ้นในวันที่ 12 ส.ค.นี้ ซึ่งหลังจากคณะวิจัยกลับถึงประเทศไทยจะมีการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่ได้จากการปฏิบัติงาน สู่เยาวชนและประชาชนที่สนใจอีกครั้ง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ