วารินทร์ พรหมคุณ
“สุรเชษฐ์”ขับเคลื่อน กศน.ทั้งองคาพยพ
นำปรัชญาพอเพียง รับมือโลกศตวรรษ 21
หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 30 ต.ค.60 ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจและสรุปนำเสนอได้ดังนี้
“…แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 กำหนดว่า “คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21” เป็นการให้ความสำคัญกับเรื่องของการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมีสำนักงาน กศน.เป็นหน่วยงานสำคัญ ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนทุกช่วงวัยเข้าถึงการศึกษา และการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
พร้อมกันนี้ ยังต้องจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความรักในสถาบันหลักของชาติ และยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งมีคุณลักษณะพื้นฐานของพลเมืองไทยที่มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความมีวินัยและมีจิตสาธารณะเพิ่มขึ้น
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ สำนักงาน กศน.ดูแล คือ การยกระดับคุณภาพและส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในพื้นที่พิเศษ 3 พื้นที่ ได้แก่
1.พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ความสำคัญเรื่องของความมั่นคงการพัฒนาให้เป็นเมือง ต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
2.พื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนชายขอบ ทั้งที่เป็นพื้นที่สูงและพื้นที่เกาะแก่ง ชายฝั่งทะเล โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา ปัญหาการขาดแคลนครู ปัญหาการเข้าถึงบริการการศึกษาด้วยสาเหตุจากสภาพพื้นที่และปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อการศึกษา
และ 3.พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยให้ความสำคัญในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในสาขาที่ตรงตามความต้องการของตลาด และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติของประเทศส่งเสริมการผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นเลิศเฉพาะด้านรวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
ซึ่งทั้งหมดนี้ กศน.จะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนภารกิจสำคัญต่าง ๆ ไปสู่การปฏิบัติและถ่ายทอดความเข้าใจไปสู่เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติ พร้อมทั้งกำกับดูแลส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวย้ำว่า นอกจากภารกิจตามนโยบาย รมว.ศึกษาธิการแล้ว สิ่งสำคัญที่ กศน.ต้องดำเนินการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม คือ 1.การฝึกอาชีพให้แก่ประชาชนและการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่ หรือ อีอีซี โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ในการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบของการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นให้แก่ประชาชน เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้รวมทั้งเสริมสร้างทักษะอาชีพให้สอดรับกับตลาดแรงงานและการพัฒนาของพื้นที่ โดยเริ่มดำเนินการในจังหวัดพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง
2.การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล ที่จะต้อง น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติที่มีมาตรฐานเป็นรูปธรรม โดยมีการติดตามประเมินผลว่าประชาชนได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ให้มากน้อยเพียงใด กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการที่มองไปถึงการมีอาชีพ และความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ
3.การจัดการศึกษาให้กลุ่มเป้าหมายเด็กตกหล่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีการสำรวจข้อมูลเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา โดยลงพื้นที่พูดคุยกับผู้นำชุมชนถึงสภาพปัญหาและสอบถามข้อมูลครัวเรือนและบุคคลที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการสำรวจจากทางข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และประสานข้อมูลบัญชีรายชื่อกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้อยู่ที่ใดบ้าง และให้ดำเนินการนำกลุ่มเหล่านี้กลับมาขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา กศน.เพื่อสร้างโอกาสและยกระดับการศึกษาให้จบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
4.การจัดการศึกษาให้แก่ผู้ไม่รู้หนังสือ โดยให้สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลผู้ไม่รู้หนังสือให้ความสอดคล้องกับข้อมูลอัตราการรู้หนังสือในสำมะโนประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความถูกต้อง และดำเนินการสอนภาษาไทยให้แก่ผู้ไม่รู้หนังสือภาษาไทย พูดไม่ได้ เขียนไม่ได้ หรือกลุ่มคนที่ใช้ได้แต่ไม่คล่อง เพื่อให้สามารถใช้ภาษาไทยในการดำรงชีวิตประจำวัน และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้
และ 5.ให้เพิ่มจำนวนอาสาสมัครประจำสถาบันศึกษาปอเนาะ จาก1คนต่อ1ปอเนาะ เป็น2 คนต่อ1ปอเนาะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคในด้านโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้จัดทำรายละเอียดเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
———————–
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ