ชี้แต่ละแห่งความพร้อมต่างกัน ทั้งวิชาการ-งบประมาณ-งานบุคคล ต้องดูว่าจะมอบอำนาจอะไรได้บ้างตามสภาพของแต่ละแห่ง
ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยถึงการมอบอำนาจให้แก่สถาบันการอาชีวศึกษา ตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 ว่า ขณะนี้สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับบทบาทและความพึงพอใจของสถาบันการอาชีวศึกษา เพื่อจะได้ทราบข้อมูลเชิงลึก ที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาการมอบอำนาจ เนื่องจากสถาบันฯ แต่ละแห่งมีความพร้อมต่างกัน บางแห่งพร้อมเรื่องวิชาการ บางแห่งพร้อมเรื่องบริหารงานบุคคล จึงต้องพิจารณาว่าจะมอบอำนาจในเรื่องใดได้บ้าง
เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา ให้มีการระดมทรัพยากรร่วมกัน ทั้งบุคลากร งานวิชาการ การเงิน การบริหาร จึงต้องมีการศึกษาว่าจำเป็นต้องมอบอำนาจอะไรบ้าง โดยให้ดูตามสภาพของแต่ละสถาบัน ซึ่งตนให้รายงานตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่จนขณะนี้ก็ยังไม่รายงานเข้ามา
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สอศ.ก็ได้พยายามแก้ปัญหาให้แก่สถาบันไปบ้างแล้ว ทั้งเรื่องบุคลากรที่ไม่เพียงพอ เรื่องตำแหน่งในสถาบันโดยให้มีตำแหน่งระดับ “อำนวยการสูง” เพื่อให้สถาบันในอนาคตเป็นองค์กรที่สามารถประสานทั้งแนวราบและแนวดิ่งได้ รวมถึงขณะนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบของสถาบัน ที่กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร (กพร.) สอศ.กำลังดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ว่า สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนจะเข้าร่วมกับสถาบันอย่างไร เป็นต้น
“ที่ผ่านมามีวิทยาลัยบางส่วนได้เข้าร่วมกับสถาบัน และกำลังคิดว่าจะให้เข้าร่วมทั้งหมดหรือไม่ เพราะการจัดตั้งสถาบันไม่ใช่เพื่อสอนระดับปริญญาตรีเท่านั้น แต่สถาบันจะต้องดูแลประสานงานทุกระดับตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ( ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) จนถึงปริญญาตรี”
ดร.สุเทพ กล่าวและว่า สำหรับปีนี้ สอศ.มีบัณฑิตที่จบปริญญาตรีรุ่นแรกประมาณ 3,200 คน ซึ่งตนได้แจ้งไปยังทุกวิทยาลัยแล้วว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ต้องการทราบตัวชี้วัดของสถาบัน 2-3 ประเด็น คือ เด็กจบแล้วมีงานทำหรือไม่ ผู้ประกอบการมีความพึงพอใจอย่างไร และคุณภาพของนักศึกษา ซึ่งวิทยาลัยน่าจะรายงานมาถึง สอศ.ได้เมื่อเปิดภาคเรียน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ