ความร่วมมือ 3 ประเทศ อินโดนีเซีย ไต้หวัน และอิสราเอล มุ่งยกระดับสู่มาตรฐานสากล
ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดโครงการความร่วมมือการฝึกงานนักเรียน นักศึกษา ในต่างประเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้เรียนอาชีวศึกษา ให้มีคุณภาพทั้งในด้านทักษะ เสริมประสบการณ์วิชาชีพ และภาษาเพื่อการสื่อสาร อีกทั้งนักเรียน นักศึกษา ยังได้มีโอกาสไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพในต่างประเทศ โดยการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในครั้งนี้ เป็นการฝึกในสาขาที่ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคน ของภาคอุตสาหกรรม สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ซึ่ง สอศ.ได้ส่งนักศึกษาไปฝึกประสบการณ์ใน 3 ประเทศ ดังนี้
ประเทศอินโดนีเซีย สาขาการโรงแรม สาขาอาหารและโภชนาการ และสาขาบริหารธุรกิจหรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีนักศึกษา40คน ครูและเจ้าหน้าที่ 7 คน เข้ารับการฝึกประสบการณ์ ระหว่างวันที่ 18-31 ก.ค.2561 ที่ SMK PARIWISATA METLAND ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ประเทศไต้หวัน สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ หลักสูตรระยะสั้นวิชา 2D/3D Animation มีนักศึกษา 25 คน ครูและเจ้าหน้าที่ 7 คน เข้ารับการฝึกประสบการณ์ ระหว่างวันที่ 19-31 ก.ค.2561 ที่ Chien Hsin University of Science and Technology ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจไทเป ประจำประเทศไทย และที่ประเทศอิสราเอล สาขาพืชศาสตร์ (ทวิภาคี) ไทย-อิสราเอล เป็นการจัดการเรียนการสอนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สอศ.กับ Arava International Center for Agricultural Training (AICAT) มีนักศึกษา 90 คน เข้ารับการฝึกประสบการณ์ 1 ปี ระหว่างวันที่ 25 ก.ค.2561 ถึง 30 มิ.ย.2562
รองเลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า นักศึกษาที่เข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในต่างประเทศ เป็นนักศึกษาระดับ ปวส. ซึ่ง สอศ.ได้พัฒนารูปแบบและปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และปฏิบัติจริงในสถานที่ที่มีศักยภาพทางวิชาชีพ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของประชาคมอาเซียน จะเห็นว่าการจัดอาชีวศึกษา และฝึกอบรมวิชาชีพ ถือเป็นกระบวนการผลิต และพัฒนากำลังคน ที่มีลักษณะเฉพาะสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน สามารถนำทักษะความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพ เพิ่มผลผลิตและมีส่วนในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้ระดับมาตรฐานสากล ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งการฝึกอาชีพด้วยการสร้างทักษะอาชีพให้ได้มาตรฐานระดับสากลของไทยในขณะนี้ จำเป็นต้องประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อร่วมกันจัดอาชีวศึกษาให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งกับผู้เรียน และพร้อมเป็นกำลังคนที่มีคุณภาพ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ