มีความอิสระ-เลิกยัดเยียดทุกอย่าง-จัดสรรให้ใหม่เด็กเรียนรู้ตามวัย
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้เสนอความเห็นเรื่องการจัดตั้งสำนักพัฒนาหลักสูตรแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลักษณะคล้ายกับสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อทำหน้าที่ดูแลพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงอาชีวศึกษา ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ เห็นด้วยและได้มอบหมายให้ ศธ.ไปดำเนินการว่า
ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะทุกวันนี้เนื้อหาสาระในการเรียนของเด็กมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทุกคนที่มีความห่วงใยประเทศก็จะโยนทุกอย่างมาที่หลักสูตรว่าต้องสอนเด็กทุกเรื่อง ทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ประชาธิปไตย เพศศึกษา การเอาตัวรอด เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีคนมาจัดสรรให้เด็กได้ค่อยเรียนรู้อย่างเหมาะสมตามวัย ซึ่งในทางปฏิบัติการใส่ทุกอย่างไปในหลักสูตรไม่ได้ทำให้เด็กรู้เพิ่มขึ้น แต่กลับทำให้เด็กเครียดมากกว่า
“จากเหตุผลดังกล่าวถ้าสามารถตั้งเป็นหน่วยงานที่จะมาดูเรื่องวิชาการ หลักสูตรที่มีความอิสระ ไม่ยึดติดรูปแบบที่เป็นราชการจะเป็นประโยชน์มาก เพียงแต่ต้องกำหนดให้ได้ว่าสาระเด็กแต่ละช่วงวัยต้องรู้และควรรู้คืออะไร ไม่จำเป็นที่หลักสูตรต้องเป็นหลักสูตรเดียวให้เด็กเรียนเหมือนกันหมด”ปลัด ศธ.กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ