“หมอธี” ตั้งกก.สืบข้อเท็จจริง MOENet หลังพบเช่าสัญญาณไม่มีสัญญา เผยตั้งแต่ยกเลิกการใช้เครือข่าย MOENet ช่วยประหยัดงบฯ 3,000 ล้านบาท
วันที่ 12 มี.ค.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริฐญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการปรับปรุงสัญญาณอินเตอร์เน็ตในสถานศึกษา และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ MOENet ว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ยกเลิกการใช้เครือข่าย MOENet ไปเมื่อเดือน ม.ค.2561 ที่ผ่านมานั้น จากการสำรวจล่าสุดพบว่า การดำเนินการดังกล่าวสามารถประหยัดงบประมาณในการเช่าสัญญาณอินเตอร์เน็ต ได้ถึงปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท
โดยพบว่าโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 30,000 กว่าโรงเรียน เหลืออีกเพียง 300 กว่าโรงเรียนหรือไม่ถึง 1% ที่มีปัญหาเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ให้ความร่วมมือช่วยวางสายไฟเบอร์ออฟติกขยายไปถึงโรงเรียนที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ โดยคาดว่าภายในปี 2561โรงเรียนทั่วประเทศจะได้ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ในส่วนของกระบวนการตรวจสอบการเช่าสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ผ่านนั้น ตนได้แต่งตั้ง นายสมศักดิ์ มิตะถา ผอ.สำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา หรือยูนิเน็ต (UniNet) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยมีคนนอกที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีสารสนเทศ มาเป็นกรรมการสืบข้อเท็จจริง ซึ่งมีข้อสงสัยหลายประเด็น เช่น ไม่มีสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเมื่อไม่มีสัญญาจะส่งมอบและตรวจรับการอย่างไร ขณะที่ยังพบว่าผู้ที่มีอำนาจในการเจรจาต่อรองราคาไม่ใช่หัวหน้าส่วนราชการ ขณะเดียวกันได้มีกระบวนการตรวจสอบภายใน ทั้งการตรวจสอบสัญญา ใบเสร็จ และรายละเอียดต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีบริษัทแห่งหนึ่งมาทวงเงินค่าใช้บริการอินเตอร์เน็ตระบบ MOENet จำนวน 60 ล้านบาทนั้น ตนได้มอบหมายให้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.ไปตรวจสอบซึ่งทาง ศธ.คงจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้ หากบริษัทเอกชนต้องการให้จ่ายก็ต้องไปฟ้องร้อง เพราะถ้าปลัด ศธ.จ่ายเงินก็อาจจะมีความผิด เรื่องนี้ต้องรอผลสอบข้อเท็จจริง รวมถึงให้ตรวจสอบย้อนไปในอดีตด้วยว่า ใครจ่ายอะไร อย่างไร และด้วยเงื่อนไขอะไร
“เรื่องนี้ต้องสอบย้อนไปในอดีตว่าใครจ่ายอะไร อย่างไร ด้วยเงื่อนไขใด ตรงนี้ผมยังไม่มีรายละเอียด แต่ได้ให้เรียกใบเสร็จและรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ มาดู ตรงนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัญญาอินเตอน์เน็ตที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อไม่มีสัญญา ก็ไม่ได้มีการให้บริการต่าง ๆ เช่น การซ่อมแซม การเปลี่ยนเราเตอร์ (Router) เรื่องนี้เกิดขึ้นมาเป็น 10ปีน่าสงสัยว่าทำไมเราจ่ายแพงขึ้นแต่อินเตอร์เน็ตเราใช้ไม่ได้”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ด้านนายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัด ศธ. กล่าวว่า หลังมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้แล้ว เราสามารถประหยัดงบประมาณได้กว่า 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ MOENet เป็นโครงการที่ ศธ. ไม่ใช่ผู้ให้บริการที่แท้จริง โดยเช่าบริการจากเอกชน ทั้งบริษัท ทีโอที จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT Telecom Public Company Limited) และ Samart ซึ่งมีทั้งจานดาวเทียมและการเช่าสายสัญญาณ ภายใต้ชื่อ MOENet ต่อมา ศธ.มีนโยบายให้โรงเรียนเลือกใช้เครือข่ายที่ดีที่สุด ลดความซ้ำซ้อน เป็นผลให้ขณะนี้แต่ละหน่วยงานสามารถประหยัดงบได้จำนวนมาก เช่น สพฐ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ลดงบฯ ได้มากที่สุด จากเดิมที่ใช้งบฯ ค่าอินเตอร์เน็ต 2,000 กว่าล้านบาทต่อปี เหลือเพียง300 กว่าล้านบาทต่อปี
ส่วนสำนักงานปลัด ศธ.ได้ดำเนินการยกเลิกการใช้เครือข่ายที่ซ้ำซ้อน ทำให้สามารถประหยัดงบฯ ได้ถึงปีละประมาณ200-300 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่ใช้งบฯถึงกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ยังไม่ได้รายงานตัวเลขเข้ามา แต่คิดว่าลดงบฯ ด้จำนวนมากเช่นกัน เพราะขณะนี้สถานศึกษาสังกัดสอศ.ส่วนใหญ่ใช้เครือข่าย UniNet ของ สกอ.แล้ว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ