“หมอธี” มั่นใจ ปปง.-ป.ป.ท.ร่วมตรวจสอบกองทุนฯ ไม่มีมวยล้มแน่นอน ระบุอีก 30 ล้านที่หายไปใครเป็นเจ้าของบัญชีต้องรับผิดชอบ ตั้ง “อรรคพล ตรึกตรอง”นั่งประธานสืบสวนข้อเท็จจริง
ตามที่กลุ่มตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) ได้ตรวจพบการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดยมีการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2551-2561จำนวนกว่า 88 ล้านบาท และได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด พร้อมกันนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้สั่งการให้มีการสำรวจทุกกองทุนใน ศธ. โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) ได้ขอหลักฐานเพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน และเตรียมดำเนินการอายัดทรัพย์กลุ่มบุคคลดังกล่าว และล่าสุดได้มีการตรวจสอบพบว่าเอกสารการโอนเงินจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต จำนวนกว่า 30 ล้านบาท ในช่วงปี 2551 และปี 2553 หายไปนั้น
วันที่ 19 มี.ค.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. ว่าได้แต่งตั้ง นายอรรคพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ.เป็นประธานสืบสวนข้อเท็จจริง แทนประธานสืบสวนข้อเท็จจริงคนเดิม ที่เป็นระดับ ผอ.สำนัก เนื่องจากเรื่องนี้ต้องมีการสืบสวนเชิงลึกและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ซึ่งก็รับทราบและได้กำชับเร่งดำเนินการ
ส่วนกรณีที่พบว่ามีการโอนเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ในปี 2551 และ 2553 จำนวนกว่า 30 ล้านบาท แต่ไม่ปรากฏเอกสารประกอบการเบิกจ่าย หรือผู้รับปลายทางเป็นใครนั้น ตรงนี้ส่วนตัวยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ใครเป็นคนดูแล ใครเป็นเจ้าของบัญชีก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งการที่เงินหายไม่ได้แปลว่าไม่มีคนรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นต้องไปตรวจสอบ และยืนยันได้ว่าเรื่องนี้ไม่มีมวยล้มต้มคนดูแน่นอน และหากใครมีข้อมูลเพิ่มเติมก็ขอให้แจ้งเข้ามาได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ปลัด ศธ.รายงานว่าภายในสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สป. ซึ่งจะมีการพิจารณาโทษทางวินัย 1ราย คือข้าราชการซี 8 ซึ่งมีความผิดชัดแจ้ง ส่วนอีก 4 ราย กำลังอยู่ในกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริง ผมยืนยันว่าเวลานี้ ศธ.ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง และปลัด ศธ. มีความเข้มแข็ง ที่สำคัญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็แถลงชัดเจนว่าจะเข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงิน และจะดำเนินการอายัดทรัพย์ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ก็เริ่มเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย อย่างน้อยที่สุดตอนนี้ ศธ.ได้ทำสิ่งที่ต้องทำ ส่วนการเยียวยาเด็กและครูที่ได้รับเงินจากกองทุนเสมาฯ นั้น ในระหว่างที่ยังไม่สามารถติดตามทรัพย์คืนมาได้ ก็อาจจะนำเงินส่วนอื่นมาแทน เบื้องต้นอาจจะนำเงินในกองทุนเสมาฯ มาเยียวยาให้แทน แต่จะต้องหารือในที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเสมาฯ ก่อน”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
“เรื่องนี้จะต้องเชิญอดีตข้าราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบถาม เพราะผมเคยพูดตั้งแต่เกิดเรื่องแล้วว่าไม่เชื่อว่าจะมีคนทำเรื่องนี้แค่คนเดียว ก็ต้องมาดูว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องจงใจ ประมาทหรือเลินเล่อหรือไม่ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ด้านนายอรรคพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ.ในฐานะประธานสืบสวนข้อเท็จจริง กล่าวว่า ได้มีการประชุมกับคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดเดิมได้รวบรวมข้อมูลเอกสารต่าง ๆ มาได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่เอกสารในปี 2551 และ 2553 นั้นยังหาไม่พบ แต่เท่าที่ตรวจสอบเอกสาร เฉพาะปี 2552 ทำให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะทุจริตตั้งแต่ต้น และจุดที่เป็นช่องโหว่ก็คือ การที่ธนาคารให้เจ้าหน้าที่โอนเงินผ่านระบบ GIRO ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติ ที่ระบุเลขบัญชีเป็นหลัก โดยไม่สนใจว่าใครเป็นเจ้าของบัญชี ซึ่งกรณีนี้ธนาคารจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย เพราะไม่ได้มีการตรวจสอบบัญชีต้นทางและปลายทางการโอน
“ก็ต้องตรวจสอบลงไปอีกว่า ตอนที่เจ้าหน้าชงเรื่องให้ปลัด ศธ.เซ็นอนุมัติเงินกองทุนฯ ปลัด ศธ.ได้มีการตรวจสอบอีกครั้งหรือไม่ และตรงนี้เข้าข่ายประมาทเลินเล่อหรือเปล่า ก็ต้องดูประเด็นนี้ด้วย และตอนนี้กำลังหาหลักฐานว่าใครเป็นผู้สั่งจ่ายโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดว่าจ่ายให้ใคร เพราะจริง ๆ แล้วเวลาโอนเงินจะต้องตรวจสอบว่าเลขบัญชีกับเจ้าของบัญชีตรงกันหรือไม่ หากไม่ตรงระบบก็ต้องตีกลับมา ซึ่งกำลังประสานธนาคารเพื่อขอสเตทเมนท์จากธนาคารมาดูด้วย ส่วนปีอื่น ๆ ก็เป็นลักษณะการกระทำความผิดเหมือนกัน คือมีการสวมรอย ทั้งนี้ ก็ต้องไล่ย้อนตรวจสอบไปในสมัยปลัด ศธ.ตั้งแต่ปี 2551-ถึงปัจจุบัน เพราะในเชิงบริหารจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่ เพราะแต่ละปีต้องมีการรายงานการดำเนินงานของกองทุนฯ ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานว่ามีการรายงาน” นายอรรคพล กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ