มอบหมาย สพฐ. ศธจ. และ สพท. รวมกันหาวิธีการประเมินที่มีคุณภาพมาตรฐาน จัดสอบแบบเข้มข้นในทุกชั้นปี ป.1-ม.6
วันที่ 5 มิ.ย.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ประจำปีการศึกษา 2560 จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.61 ระดับ ป.6 ม.3 และ ม.6 จะจัดสอบเพียง 4 วิชา คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยตัดวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ออกไป
ทั้งนี้ แม้ สทศ.จะไม่จัดสอบวิชาสังคมศึกษาแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการสอบวัดผลประเมินผลในวิชาดังกล่าว แต่จะเป็นการจัดทดสอบแบบเข้มข้นในทุกชั้นปี ตั้งแต่ป.1 ถึง ม.6 โดยตนได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ไปหาวิธีการประเมินที่เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่ มีความเป็นธรรมและใกล้ชิดเด็ก
อย่างไรก็ตาม ตนให้นโยบายไปว่า การประเมินวิชาสังคมศึกษาอยากให้เน้นหน้าที่ความเป็นพลเมือง ความเป็นไปในสังคม เพื่อให้เด็กสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบอย่างเดียวแล้วลืมหมด ส่วนระดับชั้น ม.6 ยังคงสอบ 5 วิชาอย่างเดิม คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิชาสังคมศึกษา ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะเกี่ยวข้องกับการรับเด็กเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย หากจะตัดรายวิชาใดออกคงต้องหารือกับ ที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
“ผมต้องการให้กระบวนการสอนวิชาสังคมศึกษา เน้นในเรื่องพลเมือง ศีลธรรม ต่าง ๆ ขึ้นมา ไม่ใช่ไปรวมอยู่ในสังคมศึกษาทั้งหมด ดังนั้นหน้าที่ของ สพฐ., ศธจ. และสพท. จะต้องรวมกันหาวิธีการประเมินที่มีคุณภาพมาตรฐานและเพิ่มประเมินทุกปี โดยต้องประเมินอย่างเป็นจริงไม่ใช่มารอประเมินทีเดียวเมื่อจบช่วงชั้น เพื่อให้ครูได้ใกล้ชิดเด็ก และรู้ว่าเด็กมีความรู้ผิดชอบชั่วดี ที่ถูกต้องว่าเป็นอย่างไร เรื่องนี้ไม่ใช่ ศธ.ไม่เคยทำ โดยในการสอบ O-NET ปีการศึกษา 2558 ก็ได้ตัดวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา วิชาศิลปะ และวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ออกจากการสอบ ซึ่งวิธีการการประเมินวิชาสังคมศึกษาครั้งนี้ ก็อยากให้ไปศึกษาวิชาประเมินจากทั้ง 3 วิชาดังกล่าวด้วย” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
นายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าวว่า การตัดวิชาสังคมศึกษา ออกจากการสอบ O-NET ชั้น ป.6 และ ม.3 เพราะเห็นว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับบริบทของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ดังนั้น จึงควรให้ต้นสังกัดจัดสอบเอง ไม่เกี่ยวกับกรณีที่ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าข้อสอบ สทศ. กำกวม เนื่องจากที่ผ่านมา สทศ. มีการพัฒนาข้อสอบอย่างต่อเนื่อง และในการจัดสอบ O-NET ปีการศึกษา 2559 ที่ผ่านมาก็ไม่มีข้อสอบผิด
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ