“หมอธี”ไม่จัดสรรงบฯแบบTopdownเน้นความต้องการของโรงเรียนเป็นหลัก/สพฐ.ตั้งคณะติดตาม-ประสานงานในพื้นที่
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้จัดประชุม ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)ทุกจังหวัด และผู้แทนบุคลากรสำนักงานในสังกัด สพฐ.ทุกกลุ่มงาน เพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับการทำงานระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ว่ามีปัญหาติดขัดอะไรหรือไม่ เช่น เรื่องการบริหารงานบุคคลของ ศธจ กับ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ที่พบว่ายังติดขัดระเบียบและปฏิทินการทำงานก็ยังไม่ลงตัว ทั้งเรื่องการย้ายครู และการสอบครูผู้ช่วย เป็นต้น ซึ่งต้องมาคุยกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร และมองไปข้างหน้าว่าจะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะให้เกิดอย่างไรด้วย
“นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการได้เน้นและให้ความสำคัญหน้างาน ซึ่งก็คือห้องเรียน ดังนั้นโจทย์และความต้องการที่เราจะทำต้องคือเรื่องครูและนักเรียนเป็นหลัก เมื่อครูต้องการสนับสนุนและติดขัดอะไรก็ต้องช่วยเหลือ ทั้งเรื่องขวัญกำลังใจครูในการปฎิบัติหน้าที่ ซึ่งผมจะให้โรงเรียนและเขตพื้นที่ฯ รวบรวมข้อมูลเสนอความต้องการเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อลงไปดูแล”
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า ในปีงบประมาณ 2561 รมว.ศึกษาธิการ ไม่มีนโยบายจัดสรรงบฯ จากส่วนกลางลงไปพื้นที่ หรือ Top down โดยที่ไม่ได้เป็นความต้องการของโรงเรียน ซึ่ง สพฐ.ได้ยกเลิกการจัดสรรไปหลายรายการเพื่อจะปรับใหม่ โดยการสำรวจสิ่งที่โรงเรียนต้องการ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้มารับฟังความคิดเห็นจากคนที่อยู่หน้างาน ก็พบหลากหลายความคิดเห็นที่คาดไม่ถึง เช่นมีการเสนอว่าสอบครูผู้ช่วยในปัจจุบัน เราสอบบัญชีรวมของจังหวัดทุกบัญชีแล้ว แต่ปรากฏว่าบางจังหวัดครูสอบได้น้อย เพราะส่วนใหญ่จะเลือกโรงเรียนที่อยู่ในเมือง และในเขตมัธยม สุดท้ายเขตที่อยู่ไกล ๆ ก็ไม่มีครู ซึ่งเรื่องนี้ตนจะเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ให้ทราบด้วย
“ผมจะตั้งคณะทำงานขึ้นมากำกับ ติดตามงานในพื้นที่ โดยจะแยกคณะทำงานแต่ละด้าน เช่น คณะทำงานด้านบริหารงานบุคคล ด้านพัฒนาระบบ ด้านไอซีที ด้านบุคลากร และด้านแผนและนโยบาย ซึ่งจะทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เกิดเรื่องร้องเรียนก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสืบสวนข้อเท็จจริง ดังนั้น กลุ่มคณะทำงานเหล่านี้จะสะสางงานที่ควรจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานของโรงเรียนกับเขตพื้นที่ฯ และคอยรับข้อเสนอแนะ เรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ก็จะเสนอ กพฐ. เรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ก็ให้เสนอ ก.ค.ศ. เป็นต้น สำคัญที่สุดจะรับฟังคนที่ปฏิบัติงานจากข้างล่างขึ้นมา”ดร.บุญรักษ์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ