มองแง่บวกกระตุ้นรร.ปรับการสอน-วิธีสอบใหม่/รู้เด็กคิด-เขียนอย่างไร
ตามที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้จัดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) โดยมีข้อสอบแบบอัตนัยในวิชาภาษาไทย สัดส่วน 20% ในระดับชั้น ป.6 ปีการศึกษา 2559 เป็นปีแรก และจากการตรวจกระดาษคำตอบเบื้องต้น พบว่า นักเรียน เขียนและใช้คำผิดความหมายค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการสะกดคำ ทั้งการควบกล้ำ การใช้ทัณฑฆาต การใช้วรรณยุกต์ และยังมีการใช้ภาษาถิ่นตอบคำถาม ส่งผลให้นักเรียนไม่ได้คะแนนในข้อนั้น
วันที่ 23 ก.พ.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อคำสั่งในข้อสอบมีการระบุไว้ชัดว่าให้ใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการตอบ กรรมการตรวจก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งตนจะไม่เข้าไปก้าวล่วงเรื่องระบบการตรวจข้อสอบ อย่างไรก็ดี ตนมองว่าการจัดสอบอัตนัยมีข้อดีที่สะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง ที่โรงเรียนต้องนำข้อมูลกลับมาดูว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร
“การสอบครั้งนี้ทำให้เห็นว่าเด็กสามารถจับใจความได้หรือไม่ ต้องการจะสื่ออะไร และมีความคิดสร้างสรรค์อย่างไร รวมถึงทำให้เห็นด้วยว่าเด็กสมัยนี้เขียนหนังสืออย่างไร ใช้ภาษาอย่างไร เผลอๆใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ที่เขียนด้วยตัวย่อ จนลืมภาษาเขียนที่ถูกต้อง ซึ่งผมเห็นว่าโรงเรียนต้องกลับไปปรับวิธีการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งข้อสอบของโรงเรียนให้เด็กได้ฝึกเขียนตั้งแต่ ชั้น ป.1 อย่ารอให้ถึงป.6 ซึ่งจะสายเกินไป อีกทั้งการประเมินการเรียนรู้ของเด็ก ก็ไม่ต้องรอเฉพาะสอบปลายภาค แต่สามารถประเมินได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ผมไม่อยากให้ซีเรียส กับการสอบ O-NET ด้วยข้อสอบอัตนัยของเด็ก ขอให้ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีจัดการเรียนการสอนจะดีกว่า“รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ.กล่าวว่า ผลที่ออกมาไม่น่าแปลกใจ แต่ขณะนี้แทบทุกโรงเรียนมีการบรรจุครูที่จบเอกภาษาไทยโดยตรง มีการปรับปรุงวิธีการสอนที่เน้นสอนแจกลูกสะกดคำมากขึ้นแล้ว แต่สิ่งที่ต้องมีการปรับอย่างในการสอนภาษาไทย คือ วิธีการประเมิน เพราะธรรมชาติของภาษาไทยเป็นวิชาปฏิบัติ ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งการประเมินทั้ง 4 ด้านต้องให้เด็กทำจริง แต่การสอบอัตนัยก็ทำได้บางส่วน ไม่สามารถทำได้ทั้ง 4 ทักษะ ดังนั้นเรื่องภาษาไทยการประเมินระดับห้องเรียนจะมีความชัดเจนมาก
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ