‘หมอพรทิพย์’ หมดสิทธิชันสูตร ‘แตงโม’ แต่ร่วมสังเกตการณ์ได้ ส่วนถ้าญาติจะยื่นดีเอสไอให้สอบด้วยแจ้งประเด็นติดใจดูเงื่อนไขเข้าคดีพิเศษหรือไม่
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน แม่ของ น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม ดาราสาวชื่อดังซึ่งพลัดตกเรือสปีดโบ๊ตกลางแม่น้ำเจ้าพระยา จะยื่นหนังสือขอให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ทำการชันสูตรศพอีกครั้ง เนื่องจากมีข้อสงสัยหลายประเด็น ว่าหากญาติต้องการให้ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ชันสูตรศพก็ต้องยื่นเรื่องมาที่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งผู้มีสิทธยื่นคือแม่และพี่ชายของแตงโม จากนั้นกระทรวงยุติธรรมจะสั่งการไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการ เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือมาร่วมชันสูตร 3 คน ซึ่งเป็นแพทย์ที่จบการศึกษาทางด้านนิติเวชมาโดยตรง และอาจมีผู้สังเกตการณ์ร่วม
ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต กล่าวอีกว่า จะเข้าร่วมสังเกตการณ์เพื่อดูขั้นตอนการตรวจพิสูจน์เช่นกัน ส่วนที่ญาติต้องการให้ แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และสมาชิกวุฒิสภา ร่วมชันสูตรด้วยนั้นคงไม่สามารถทำได้ แต่สามารถเข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้ ซึ่งหลักการตรวจพิสูจน์ต้องตรวจกว้างๆ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต เช่น จมน้ำเสียชีวิต หรือถูกทำให้เสียชีวิตก่อนจมน้ำ ส่วนประเด็นที่มีความสงสัยและขอให้ตรวจสอบเพิ่มเติมนั้นก็จะตรวจสอบว่ามีความสงสัยประเด็นอะไรบ้าง เช่น บาดแผลจะบ่งชี้ว่าเกิดจากอะไร เกิดจากใบพัดหรือไม่ ซึ่งต้องพยายามตรวจพิสูจน์บาดแผล รวมถึงเหตุใดดวงตาถึงปูดบวม แต่ปัญหาคือหลักฐานบางอย่างสูญเสียสภาพเดิม จึงทำให้ยากต่อการชันสูตร เช่น ศพอาจเน่าเปื่อย ส่วนประเด็นที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ได้ตรวจพิสูจน์ไปแล้วนั้นบางอย่างต้องตรวจซ้ำ เช่น กระเพาะปัสสาวะ มีปัสสาวะหรือไม่ มีร่องรอยหรือบาดแผลอื่นหรือไม่ รวมถึงมีสารเสพติดหรือไม่ ซึ่งบางอย่างต้องตรวจซ้ำๆ เพื่อให้ได้หลักฐานตรงกัน แต่หากผลชันสูตรแตกต่างกัน หลักการขณะนี้ยังต้องใช้ผลชันสูตรของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต กล่าวอีกว่า หากญาติยื่นขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนคดีและสาเหตุการเสียชีวิตมาในคราวเดียวกัน ก็ต้องแจ้งประเด็นที่ติดใจด้วย จากนั้นจะประสานดีเอสไอนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษเพื่อพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งต้องนำผู้เชี่ยวชาญจากดีเอสไอมาช่วยตรวจสอบ ก็จะสั่งการไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางญาติผู้ตายได้ยื่นคำร้องขอเยียวยากับกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่