กรณีสรรหาอธิการบดี มทร.ล้านนา-ขอให้ยึดประโยชน์ส่วนรวม
จากกรณี ผศ.ประพัฒน์ เชื้อไทย รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา ได้ร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ล้านนา เรื่อง แต่งตั้งให้รักษาราชการแทนอธิการบดีมทร.ล้านนา โดยขอให้ยกเลิกการรักษาราชการแทน 6 เดือน เป็นรักษาราชการแทนจนกว่าจะได้รับการโปรดเกล้าฯนั้น
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวว่า เท่าที่จำได้ ผศ.ประพัฒน์ ถูกร้องเรียนว่าเรื่องการทุจริตตั้งแต่แรกเริ่มที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น อธิการบดี มทร.ล้านนา ซึ่งตนได้ให้สภามหาวิทยาลัยไปตรวจสอบชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดว่า การสอบสวนเป็นอย่างไร เพราะตราบใดที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ก็ไม่สามารถเสนอชื่อ ผศ.ประพัฒน์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดีได้ และถ้าหากยังดำเนินการยังไม่เสร็จสิ้นจนหมดเวลารักษาราชการแทน ก็ขึ้นอยู่ที่กฎหมายของสภามหาวิทยาลัยว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากกฎหมายของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน
นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าอำนาจอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) หรือ สกอ. ดังนั้นสภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบต้องไปทบทวนเองว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้นในมหาวิทยาลัย และที่สำคัญคือต้องมองมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ถ้าหากรักษาการแล้วทำงานได้ไม่เต็มที่ ความเสียหายก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นสภามหาวิทยาลัยจะต้องกล้าคิด กล้าทำ และต้องรีบตัดสินใจ ถ้าเขาดีจริงก็ต้องยืนยันว่าดี แต่ถ้าคิดว่าแต่งตั้งไปแล้วมีปัญหาก็ต้องปรับ
“เรื่องธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย ถ้าเป็นประโยชน์ของมหาวิทยาลัย ก็ไม่จำเป็นต้องขอความคิดเห็นเฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัย แต่ข้าราชการ พนักงานในมหาวิทยาลัย ต้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย เพราะถ้าปล่อยให้ผู้บริหารบริหารมหาวิทยาลัย แล้วทำให้เกิดปัญหาก็ต้องช่วยกันออกมาปกป้องผลประโยชน์ และตอนนี้ระบบของมหาวิทยาลัยดีอยู่แล้ว เราให้อิสระกับมหาวิทยาลัย ซึ่งสภามหาวิทยาลัยจะต้องขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้บรรลุจุดประสงค์” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ถึงประเด็นที่สภามหาวิทยาลัยบางแห่ง ไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดีถูกร้องเรียนกล่าวหาว่า “ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ” โดยมีชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องเรียน พร้อมทั้งมีหลักฐานเอกสารประกอบชัดเจน โดยสภามหาวิทยาลัยละเลย ไม่แต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงให้เรียบร้อยก่อน แต่ส่งชื่อเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ จะมีความผิดหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของมหาวิทยาลัยและเป็นเรื่องที่มิบังควรอย่างยิ่ง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ