“หมออุดม”ชี้ควรปรับการผลิตคนเป็น 4.0 เน้นสร้างนวัตกรรมและพัฒนาคนคุณภาพสูง ‘แนะ’ ใช้ผลวิจัย google ช่วยสร้างคนเก่งดีให้องค์กร
เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของกระทรวงศึกษาธิการต่อการสร้างบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21” ที่โรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยมี นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ผอ.โรงพยาบาลแก่งคอย คณะผู้บริหาร ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ การสาธารณสุขและการศึกษา ร่วมงาน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสิ่งต่าง ๆ แม้แต่ระบบการเงินก็เกิดความเปลี่ยนแปลงไปมาก อาทิ Bitcoin หรือระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น และมีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2030 จะเกิดการพลิกโฉมในเรื่องของ Health care และการศึกษา ประกอบกับข้อมูลของ World Economic Forum ที่พบว่าในอนาคตเทคโนโลยีด้านสุขภาพจะมีความก้าวหน้าและสามารถแทนคนได้ ทั้งการใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนรู้ ใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด การตรวจพบความผิดปกติของ Gene ที่บ่งบอกการเกิดโรค ตลอดจน Biotechnology เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การรักษาเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วและประชากรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นภาคการผลิตบุคลากร ต้องเผชิญกับความท้าทายและเงื่อนไขที่เปลี่ยนปลงไป ทั้งวัยแรงงานและวัยเด็กลดลง และประชากรเด็กเข้ามหาวิทยาลัยน้อยลง สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น การแข่งขันในระดับนานาชาติ ตลอดจนการเพิ่มจำนวนมหาวิทยาลัยต่างชาติที่มีศักยภาพสูง
ดังนั้น สถาบันอุดมศึกษา ควรมีทิศทางในการปรับตัวให้รองรับพลวัตรที่เปลี่ยนแปลงเหล่านั้น อาทิ การศึกษาอาชีพในโลกอนาคต, การปรับรูปแบบการเรียนรู้จาก 1.0 ที่เรียนรู้จากอาจารย์อย่างเดียว ให้สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง (2.0) และสร้างองค์ความรู้ (3.0) นำสู่การอุดมศึกษาไทยในยุค 4.0 ที่มีหัวใจสำคัญ คือการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ให้มีคุณภาพสูงขึ้น เน้นการเพิ่มมูลค่าทรัพยากรและผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการนำเข้า รวมทั้งเป็นสังคมของการแบ่งปันและปรับตัวสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ยุคโลกาภิวัตน์
โดยสถาบันอุดมศึกษ าต้องเตรียมจัดหลักสูตรให้เรียนหลายศาสตร์หลายแขนง และสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก โดยอาจารย์มีหน้าที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในสิ่งที่ผู้เรียนอยากรู้ และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์กับอาชีพที่หลากหลายได้ พร้อมเตรียมปรับให้มีการเรียนแบบ Non-Degree มากขึ้น เช่น การเรียนระยะสั้น 6-12 เดือน เพื่อรับประกาศนียบัตรเฉพาะทางหรือเฉพาะทักษะและนำไปประกอบอาชีพได้ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานระดับสากลของ Google และ Microsoft ที่เปิดสอนแบบออนไลน์เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตร และมีหน่วยงานรองรับในการเข้าทำงาน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การเรียนในยุคนี้ต้องมุ่งผลสัมฤทธิ์ ผ่านกระบวนการเรียนการสอนจิตปัญญาศึกษา และส่งเสริมทักษะ Soft skills พร้อม ๆ กับมีการ Share resources ระหว่างสถาบัน ปรับระบบให้โอนหน่วยกิตระหว่างคณะหรือสถาบันได้ สิ่งสำคัญคือมีมาตรการ “บัณฑิตไม่ตกงาน” จัดเพิ่มพูนทักษะให้คนวัยทำงาน และดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีคุณค่า
นอกจากนี้ มีสิ่งที่ Google ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับ ลักษณะสำคัญที่ทำให้คนประสบความสำเร็จและช่วยองค์กรได้ดี ประกอบด้วย การมีโค้ชที่ดี, การมีทักษะการสื่อสารกับผู้อื่นได้, ทักษะในการเข้าใจผู้อื่นที่มีหลักคิดและทัศนคติที่แตกต่างจากเรา, มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น, มีทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา และสามารถเชื่อมโยงความหลากหลายของผู้คน หากเรานำมาปรับใช้ทั้งในด้านการแพทย์และการศึกษา ก็เชื่อว่าจะสามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสูงสู่แวดวงด้านการแพทย์และการศึกษาได้มากขึ้น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ