ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่สำรวจท้องทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกสามารถบันทึกภาพเคลื่อนไหวที่หาดูได้ยากยิ่งของ “หมึกแก้ว” หรือ “หมึกสายแก้ว” (glass octopus) สัตว์น้ำลึกซึ่งมีร่างกายโปร่งใสจนมองเห็นอวัยวะภายใน
ทีมนักวิจัยจากสถาบันมหาสมุทรชมิดต์ (Schmidt Ocean Institute) บันทึกวิดีโอที่น่าตื่นตาของหมึกแก้วไว้ได้ในภารกิจการสำรวจก้นมหาสมุทรเป็นเวลา 34 วัน โดยพวกเขาได้พบเจอกับหมึกชนิดนี้ถึง 2 ครั้งในทะเลลึกใกล้กับหมู่เกาะฟีนิกซ์ ซึ่งอยู่ห่างจากนครซิดนีย์ของออสเตรเลียไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 5,100 กิโลเมตร
ภาพที่ได้เผยให้เห็นหมึกที่มีผิวหนังโปร่งใสราวกับแก้ว จนมองเห็นได้เพียงลูกตา เส้นประสาทตา และระบบย่อยอาหารของมัน
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมชีววิทยาทางทะเลของสหราชอาณาจักร เมื่อปี 1992 ระบุว่า ดวงตาทรงกระบอกของหมึกชนิดนี้อาจมีวิวัฒนาการเพื่อให้ศัตรูหรือเหยื่อมองเห็นได้ยาก เวลาที่มองขึ้นมาจากด้านล่าง ถือเป็นกลยุทธ์ในการพรางตัวอย่างหนึ่งของพวกมัน
หมึกแก้ว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Vitreledonella richardi อาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ที่ความระดับลึก 200 – 3,000 เมตรจากผิวน้ำทะเล โดยจากการศึกษาของทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่ามีการพบหมึกชนิดนี้ในทะเลแถบอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
แม้นักวิทยาศาสตร์รู้จักมันมานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่แทบไม่เคยมีใครได้เห็นภาพของมันตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เลย จึงทำให้การศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้ทำได้ยาก โดยที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ต้องศึกษาพวกมันจากซากที่ถูกพบอยู่ในท้องของสัตว์นักล่า
ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงหวังว่าวิดีโอที่บันทึกได้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัย และช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหมึกชนิดนี้ได้มากขึ้น
สำหรับภารกิจครั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้สำรวจก้นมหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่ 30,000 ตารางกิโลเมตร และพวกเขาบอกว่ายังมีอะไรอีกมากให้ค้นหาในท้องทะเล
นางเวนดี ชมิดต์ ซึ่งร่วมก่อตั้งสถาบันมหาสมุทรชมิดต์กับสามี คือ นายเอริก ชมิดต์ อดีตซีอีโอบริษัทกูเกิล กล่าวว่า “การสำรวจเช่นนี้สอนให้เรารู้ว่าทำไมเราจึงต้องเพิ่มความพยายามในการฟื้นฟู และทำความเข้าใจกับระบบนิเวศทางทะเลของโลกให้มากขึ้น เพราะห่วงโซ่ชีวิตอันยิ่งใหญ่ที่เริ่มต้นขึ้นในมหาสมุทรมีความสำคัญต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์เรา”