“ความสุขสำหรับผมคือ ทำให้คนอื่นที่เขาคิดว่าเขาไม่มีคุณค่า ให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่ามากขึ้น”
นี่คือความมุ่งมั่นของนักกายภาพบำบัดในชุมชน ที่ สยาม เพิ่มเพ็ชร์ ศิษย์เก่าคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งปัจจุบันเป็นนักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ผันตัวเองจากการทำงานในโรงพยาบาลทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้กับการทำงานกายภาพบำบัดในชุมชนอย่างแท้จริง
ด้วยความที่พื้นฐานชอบช่วยเหลือคน บวกกับที่บ้านต้องการให้ลูกเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ จุดเริ่มต้นของการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยรังสิตของสยามจึงเริ่มต้นขึ้นที่นี่
“ชีวิตนักศึกษากายภาพบำบัดรุ่นแรก ได้มีโอกาสไปทำกิจกรรมค่ายอาสาบ้าง ชีวิตสนุกมาก ได้ออกไปเรียนรู้งานทางด้านกายภาพบำบัดอยู่ตามโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รพ.จันทบุรี รพ.พระปกเกล้า รพ.สว่างนิวาส
เมื่อเรียนจบผมคิดว่าชีวิตผมน่าจะอยู่ต่างจังหวัด แต่ไม่เป็นเช่นนั้น พอจบก็ถูกทาบทามจากอาจารย์ให้เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะกายภาพบำบัด ม.รังสิต ประมาณ 1 ปี จากนั้นจึงไปทำงานที่ รพ.ยะลา จ.ยะลา ประมาณ 2 ปี แต่ด้วยเหตุปัจจัยในชีวิตจึงย้ายจาก รพ.ยะลา มาอยู่ที่ รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช”
เมื่อพูดถึงงานกายภาพบำบัดในโรงพยาบาล สยามเล่าว่า เริ่มต้นมีคนไข้ที่มีข้อมูลอยู่ในมือเรา ขณะชุมชนเขามีเจ้าของ ซึ่งคือ อบต. กับสถานีอนามัย ซึ่งปัจจุบันเรียกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพสต. เราคุยกับเขาว่าผมมีคนไข้แบบนี้ เราไปดูคนไข้ด้วยกันไหม โดยทำงานคู่กันโดยเราลงพื้นที่และสามารถให้เขาดูแลต่อ
โดยส่วนตัวคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้คนไข้เหล่านี้เข้าถึงบริการ จึงไปคุยกับหัวหน้ากลุ่มงานก่อนว่าผมจะต้องออกไปดูกลุ่มคนไข้ในชุมชน เพราะชุมชนที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองนั้น เห็นว่าเป็นอำเภอเมืองก็จริงแต่การเข้าถึงบริการไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด ผมคิดว่าถ้าเราอยู่แบบนี้คนไข้เข้าถึงเราก็ยากและวิชาชีพเราน่าจะทำประโยชน์ได้เยอะกว่า ผมเลยมาคุยกับหัวหน้ากลุ่มงานว่าผมน่าจะผันตัวเองออกไปทำงานนอกโรงพยาบาลจะเหมาะกว่า
“ส่วนใหญ่จะมีเคสคนไข้ที่หลากหลาย คนไข้ในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนไข้สูงอายุ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต เนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง เป้าหมายของเราคือ อยากให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด อาจจะคุยเป้าหมายร่วมกันระหว่างเขากับเรา และไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
ผมเคยเจอเคสหนึ่งที่หนักๆ ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว คนไข้นอนติดเตียง เป็นเส้นเลือดในสมองแตก ผมไปดูแลเขา ถามความต้องการว่าเขาต้องการอะไร ความต้องการเขาคือ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่ในฐานะที่เราเป็นบุคลากรด้านสุขภาพเราไม่อยากให้เขาคิดแบบนั้น ก็เลยไปคุยกับเขา คุยกับนักพัฒนาชุมชน นายก อบต. ผอ.รพสต. และทำโฟกัสกรุ๊ปคุยกันว่าเราจะจัดการกับเคสนี้อย่างไร โดยเอาคนไข้เป็นศูนย์กลาง
ถามความต้องการของเขาจริงๆ ว่าเขาต้องการอะไร ซึ่งสุดท้ายได้ทราบความต้องการของเขาคือ เขาต้องการอยู่กับลูกเขา แต่ลูกเขาอยู่ที่อื่น เราจะทำอย่างไรให้ลูกเขากลับมา ก็เลยเป็นที่มาของการตามไปหาลูกเขาด้วย”
ความสุขสำหรับผมคือ ทำให้คนอื่นที่เขาคิดว่าเขาไม่มีคุณค่า ให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่ามากขึ้น อยากมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเองมากขึ้น
“การทำกายภาพบำบัดต้องมีเมตตา ถ้าเราไม่มีเมตตา เราก็จะมองเห็นคนไข้เป็นวัตถุสิ่งของทำๆ ไปอย่างนั้น ถ้าเรามีเมตตาเราก็อยากให้เขาพ้นทุกข์ เราเห็นความทุกข์ของคนอื่นก็ไม่ต่างจากทุกข์ของเรา เมื่อเมตตาแล้วก็ต้องมีความอดทน ต่อมาคือต้องมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ มีจรรยาบรรณ
อะไรที่คิดว่าเขาจะดีขึ้นจากเราๆ ก็บอกตรงๆ อะไรที่ไม่ดีขึ้นจากการรักษาของเราๆ ก็หาการรักษาอื่น อาจจะต้องส่งต่อในระดับที่มากขึ้น เช่น อาจจะต้องส่งต่อในโรงพยาบาลเพื่อให้หมอคนอื่นช่วยดูแทนเรา เพื่อที่คนไข้จะดีขึ้น” สยาม นักกายภาพบำบัดหัวใจงามกล่าวทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ