คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานเปิดห้อง “กัลยาณิวัฒนาวรานุสรณ์” โดยท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นประธานในพิธี
ทั้งนี้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน และองค์ประธานกองทุนช่วยเหลือประชาชนปลอดโรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนี้ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารหลังใหม่ของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนว่า “อาคารราชนครินทร์” เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งได้เปิดใช้อาคารตั้งแต่ปี พ.ศ.2555
อีกทั้งได้ก่อสร้างห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 (Biosafety Level 3 Laboratory : BSL 3) ณ อาคารราชนครินทร์ ชั้น 9 โดยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานชื่อห้องปฏิบัติการวิจัยชีวนิรภัยระดับ 3 หรือ BSL 3 ว่า “ห้องกัลยาณิวัฒนาวรานุสรณ์” โดยมีความหมายว่า “ห้องเป็นที่ระลึกอันประเสริฐถึง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”
ในพิธีเปิดห้อง “กัลยาณิวัฒนาวรานุสรณ์” ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม วางพวงมาลัยหน้าพระรูปสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ อาคารราชนครินทร์ ชั้น 1 จากนั้นมายังชั้น 9 ตัดริบบิ้นเปิดผ้าแพรป้ายห้อง “กัลยาณิวัฒนาวรานุสรณ์”
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอน การวิจัยในด้านการแพทย์วิทยาศาสตร์และเทคนิคใหม่ ตลอดจนการพัฒนาวัคซีนต่อโรคที่เป็นปัญหาของภูมิภาค ดังนั้น ห้องปฏิบัติการที่มีเทคโนโลยีความปลอดภัยระดับสูงและมีมาตรฐาน จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการรองรับการวิจัยทดลองเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรครุนแรงในคนและสัตว์ สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและแมลงที่เป็นพาหะ รวมถึงการวิจัยเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโดยการดัดแปลงพันธุกรรม และงานที่อาจมีอันตรายในระดับที่ยังไม่ทราบแน่ชัด
ดังนั้น ห้องกัลยาณิวัฒนาวรานุสรณ์ (ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวนิรภัยระดับ 3 : BSL3) จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่ถูกกำหนด และอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพของเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ โดยเฉพาะเชื้ออุบัติใหม่ (Re-emerging diseases) เชื้อไวรัส เชื้อโรคที่ติดต่อทางลมหายใจและเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ที่ร้ายแรงและอาจติดต่อในคน
โดยจะมีส่วนสำคัญยิ่งในการช่วยให้แพทย์ นักวิจัย บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผลิตผลงานวิจัยด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับจากองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการวิจัยโรคเขตร้อนแห่งเอเชีย
ได้รับเงินสนับสนุนจากทุนการกุศล กว. 50,000,000 บาท รวมกับผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสมทบผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมเป็นเงิน 100.40 ล้านบาท และได้รับงบฯปี 62 สนับสนุนค่าครุภัณฑ์ 13.4 ล้านบาท รวมค่าก่อสร้างและครุภัณฑ์ 113.8 ล้านบาท
การใช้งานในแต่ละห้อง BSL3 จะถูกควบคุมโดยระบบ RFID การเข้าใช้ห้องแต่ละครั้งจะถูกควบคุมโดยระบบลงชื่อเข้าใช้และการออกจากห้องในแต่ละครั้ง รวมทั้งการเข้าหรือออกจากพื้นที่ Main Air Lock ด้วย นอกจากนี้ ระบบการบันทึกชื่อเข้า/ออก ในห้องเครื่อง ห้องแช่แข็งเก็บตัวอย่าง ห้อง Decon และห้องเก็บวัสดุ สารต่าง ๆ ก็ใช้ระบบนี้เช่นกัน
ระบบความปลอดภัยของแต่ละห้องจะถูกตรวจดูและบันทึกอย่างถาวรด้วยระบบ CCTV แบบทันสมัยที่สุด ห้องเก็บเชื้อโรคแบบแช่แข็งนั้นจะมีระบบตรวจวัดระดับของออกซิเจน ซึ่งจะเชื่อมกับระบบทดแทนในภาวะฉุกเฉิน ในกรณีเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับก๊าซไนโตรเจนหรือก๊าซไนโตรเจนรั่วไหลในห้อง จะมีระบบควบคุมกลางซึ่งจะส่งสัญญาณเสียงดังและส่งข้อความเตือนผ่านระบบ SMS และ E-mail ด้วย และขณะเดียวกันจะมีการเปิดสวิทซ์ระบบฉุกเฉินให้ส่งก๊าซออกซิเจนให้เพียงพอเข้าไปในห้องเก็บตัวอย่างนี้
พร้อมกับมีระบบจ่ายกระแสไฟฟ้ารองรับหากเกิดไฟฟ้าดับหรือไม่เสถียร อีกทั้งข้อมูลของห้อง BSL3 แต่ละห้อง จะทำให้สามารถคิดค่าใช้จ่ายของแต่ละระบบหรือแต่ละห้องได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากหากมีผู้อื่นขอเข้ามาใช้พื้นที่
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ