สนองพระบรมราโชบายการศึกษายกระดับชีวิตท้องถิ่น
รศ.ดร.ชูศักดิ์ เอกเพชร รักษาราชแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน และประชุมกําหนดยุทธศาสตร์ของ มรส.ให้สอดคล้องกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พร้อมบรรยายพิเศษแก่นักศึกษาคณะครุศาสตร์ โดยมีนายวิชวุทย์ จีนโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิชัย ศรีขวัญ นายกสภา มรส. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงาน และส่วนราชการต่าง ๆ ให้การต้อนรับและรับฟังการดำเนินงานในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี
รศ.ดร.ชูศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า มรส.เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38แห่ง ที่น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้ตรงกับความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง กำหนดคุณลักษณ์บัณฑิตครู 5 ปี ให้เป็นครูมืออาชีพ น้อมนำ ศาสตร์พระราชา พัฒนาท้องถิ่น ซึ่งการเป็นครูมืออาชีพ คือ จะต้องมีความรอบรู้ในศาสตร์สาขาวิชา เชี่ยวชาญการจัดการเรียนรู้ มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีจิตอาสา การน้อมนำศาสตร์พระราชา คือ มีความรู้ ความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยึดแนวพระราชดำริ พระราชดำรัส หลักการทรงงานโดยพัฒนารายวิชาศาสตร์พระราชาเป็นวิชาชีพของการศึกษาครู มรส. จัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นและภูมิปัญญา รักและภูมิใจในท้องถิ่น มีทักษะในการพัฒนาท้องถิ่น สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน
รศ.ดร.ชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้เดินทางไปยังหมู่ที่ 7 บ้านใหม่นิคม ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเยี่ยมชมการดําเนินงานในพื้นที่ ต.ขุนทะเล ซึ่งเป็นพื้นการส่งเสริมพัฒนาของ มรส.ที่สนองพระบรมราโชบายที่ทรงมีพระราชปณิธาน ให้เกิดการความร่วมมือในการพัฒนาระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏกับท้องถิ่น อันจะส่งผลให้เกิดความผูกพันใกล้ชิด และเกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลในการทำงานร่วมกันในทุกมิติ เพื่อส่งผลให้ประชาชน ต.ขุนทะเล และพื้นที่ใกล้เคียงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจครัวเรือน ด้านความรู้และเทคโนโลยี รวมถึงการนําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิต ของประชาชนทั้งตําบล เช่น การนําความรู้จากการวิจัย พลังเป็ดมาพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงเป็ด การแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า การค้นหาทุนและศักยภาพของพื้นที่เพื่อการพัฒนาอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน สร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ