พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะ ไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ที่จังหวัดนราธิวาส ได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 44 (วัดฉัททันต์สนาน) อำเภอตากใบ เปิดสอนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ตั้งอยู่ในชุมชนที่เข้มแข็ง สามารถดูแลความปลอดภัยได้อย่างเต็มที่ ไม่เคยเกิดเหตุสร้างสถานการณ์ ครูและบุคลากร มีประสิทธิภาพในการสอนและใส่ใจนักเรียน ทำให้มีนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ อนุรักษ์ภาษาถิ่นใต้สำเนียงตากใบ (เจ๊ะเห) ให้คงอยู่ ซึ่งในปีการศึกษา 2565 ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19
ส่วนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 อำเภอระแงะ เป็นโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แบบอยู่ประจำ เปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานควบคู่หลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น หลักสูตรการศึกษาเพื่อการทำงาน อิสลามศึกษา และส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จัดอบรมครูทำแผนการผลิตสื่อออนไลน์ และจัดทำแผนการเรียนรู้ โดยจัดการเรียนการสอนทั้งแบบ On-line, On-hand, และ On-demand สำหรับนักเรียนมีปัญหาการอ่านและเขียนภาษาไทย แก้ไขโดยให้ใช้ภาษาไทยสื่อสารในห้องเรียน และสอนเสริมนอกเวลาเรียน
ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 9 อำเภอบาเจาะ เปิดสอนชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เปิดชุมนุมการศึกษาตามความสนใจและความถนัด เน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ สามารถนำไปประกอบเป็นอาชีพได้ และเปิดรายวิชาอารยเกษตรสำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2565 สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่มาประยุกต์แบบชาวบ้าน เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก สามารถดำเนินการได้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่
และที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 10 อำเภอบาเจาะ ซึ่งเปิดสอนชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันจัดการเรียนการสอนแบบ On-site ตามมาตรการ Sandbox : Safety zone in school อย่างเคร่งครัด ในรูปแบบ Small Bubble แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มเล็ก และแบ่งช่วงเวลาในการจัดกิจกรรม เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และจัดตลาดนัดวิชาการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักเรียน ในชั่วโมงกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยจัดแสดงสื่อการเรียนการสอนของ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ส่งผลให้นักเรียนมีทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และมีความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตชิ้นงาน
จากนั้น ไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งเปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน สำหรับการจัดการเรียนการสอน มีการส่งเสริมและพัฒนาครูให้ปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลแก่ผู้เรียนให้มากที่สุด ให้ครูผู้สอนส่งแผนการจัดการเรียนรู้ เน้นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิด ปฏิบัติจริง ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีการใช้สื่อเทคโนโลยีมาบูรณาการกับการเรียนการสอน และทำวิจัยในชั้นเรียน เพื่อนำมาพัฒนานักเรียน