ผู้จัดการโครงการกำกับดูแลของ HSBC เผยประสบการณ์เฉียดตายจากการทำงานหนักหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์ สอดคล้องกับผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization–WHO) ระบุว่า การทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคนในแต่ละปี
เมื่อ 5 สัปดาห์ก่อน โจนาธาน ฟรอสติก วัย 45 ปี ได้โพสต์ข้อความทาง LinkedIn และได้รับการส่งต่ออย่างกว้างขวาง จากการที่เขาเล่าถึงสัญญาณเตือนที่เขาได้รับจากการทำงานยาวนาน
“ผมจะไม่ใช้เวลาทั้งวันกับซูมอีกต่อไปแล้ว”
ผู้จัดการโครงการกำกับดูแลของ HSBC นั่งลงเตรียมงานสำหรับสัปดาห์ถัดไปในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ แล้วเขาก็รู้สึกแน่นหน้าอก มีอาการเต้นตุบ ๆ ในลำคอ กราม แขน และหายใจลำบาก
“ผมเข้าไปนอนพักในห้องนอน แล้วภรรยาก็เข้ามาดูแลและโทรเรียก 999” เขากล่าว
ขณะที่พักฟื้นจากอาการหัวใจวาย นายฟรอสติกตัดสินใจปรับโครงสร้างวิธีการทำงานของเขาใหม่ “ผมไม่ใช้เวลาทั้งวันกับซูมอีกต่อไปแล้ว” เขากล่าว
โพสต์ของเขาทำให้ผู้อ่านหลายร้อยคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานหนักและได้รับผลกระทบต่อสุขภาพรู้สึกเข้าใจเขา
นายฟรอสติกไม่ได้ต่อว่านายจ้างที่เขาต้องทำงานยาวนาน แต่ผู้ที่เขามาแสดงความเห็นคนหนึ่งบอกว่า “บริษัทต่าง ๆ กดดันให้คนทำงานจนถึงขีดจำกัดอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนใจถึงสวัสดิภาพส่วนตัวของคุณ”
HSBC ระบุว่า พนักงานทุกคนของธนาคารปรารถนาให้นายฟรอสติกฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในเวลาอันรวดเร็ว
“เราตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและสวัสดิภาพส่วนบุคคลและความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต ในช่วงปีที่ผ่านมา เราได้เพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าในเรื่องสุขภาพและสวัสดิภาพ”
“ปฏิกิริยาต่อหัวข้อนี้แสดงให้เห็นว่า คนคำนึงถึงเรื่องนี้มากแค่ไหน และเราสนับสนุนให้ทุกคนให้ความสำคัญกับสุขภาพและสวัสดิภาพของตัวเองเป็นลำดับแรก”
ผลอาจเลวร้ายลงเพราะโควิด
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization–WHO) ระบุว่า การทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคนในแต่ละปี
ผลการศึกษาระดับโลกในเรื่องนี้ชิ้นแรกระบุว่า มีคน 745,000 คนเสียชีวิตในปี 2016 จากโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ เนื่องจากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน
รายงานพบว่า คนที่อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ได้รับผลกระทบมากที่สุด
WHO ระบุด้วยว่า แนวโน้มนี้อาจเลวร้ายลงเนื่องจากการระบาดของโควิด-19
การวิจัยพบว่า การทำงาน 55 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ต่อสัปดาห์ มีส่วนสัมพันธ์กับการทำให้เกิดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 35% และความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ทำงานสัปดาห์ละ 35-40 ชั่วโมง
การศึกษาซึ่งจัดทำร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization–ILO) ยังเผยให้เห็นว่า เกือบ 3 ใน 4 ของคนที่เสียชีวิตจากผลของชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเป็นผู้ชายวัยกลางคนหรือแก่กว่า
การเสียชีวิตมักจะเกิดขึ้นในช่วงหลังจากนั้น หรือบางครั้งอาจจะหลายสิบปีต่อมา
แม้ว่าการศึกษาของ WHO ไม่ได้ครอบคลุมช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด แต่เจ้าหน้าที่ WHO ระบุว่า การต้องเปลี่ยนไปทำงานจากบ้านและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำงานยาวนานได้
“เรามีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่า เมื่อประเทศต่าง ๆ เริ่มล็อกดาวน์ จำนวนชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นราว 10%” แฟรงก์ เพกา เจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคของ WHO กล่าว
รายงานระบุว่า มีการประเมินว่า ชั่วโมงการทำงานอันยาวนานเป็นสาเหตุของโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานราว 1 ใน 3 ของทั้งหมด
นักวิจัยระบุว่า ชั่วโมงการทำงานอันยาวนานทำให้สุขภาพย่ำแย่ลงได้ 2 แบบ อย่างแรกคือ ผลโดยตรงทางร่างกาย และอย่างที่สองคือ การทำงานยาวนานหลายชั่วโมงทำให้เกิดพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ อย่าง การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ การนอนน้อยและไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย รวมถึงการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
แอนดรูว์ ฟอลล์ส วัย 32 ปี วิศวกรผู้ให้บริการนอกสถานที่ ชาวเมืองลีดส์ กล่าวว่า ชั่วโมงการทำงานอันยาวนานสมัยอยู่กับนายจ้างเก่าของเขา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเขา
“50-55 ชั่วโมงคือปกติ ผมต้องอยู่ห่างจากบ้านนานหลายสัปดาห์ติดต่อกัน”
“ความเครียด, อาการซึมเศร้า, ความกังวลใจ เกิดขึ้นเป็นวงจรที่เลวร้ายวนไปมา” เขากล่าว “ผมอยู่ในภาวะที่กำลังล้มหมดสติ”
หลังจากทำงานนั้น 5 ปี เขาลาออกเพื่อรับการฝึกหัดเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์
WHO ระบุว่า จำนวนคนที่ทำงานยาวนานหลายชั่วโมงกำลังเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดใหญ่ และคิดเป็นประมาณ 9% ของประชากรโลก
ในสหราชอาณาจักร สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนที่ทำงานจากบ้านในช่วงการระบาดใหญ่ทำให้ต้องทำงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนคนที่ไม่ได้ทำงานจากบ้านทำงานเกินเวลาราว 3.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า นายจ้างควรพิจารณาเรื่องนี้ในการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดจากการทำงานของพนักงานด้วย
“การจำกัดชั่วโมงทำงานน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง เพราะนั่นแสดงให้เห็นแล้วว่าช่วยเพิ่มผลิตภาพ” นายเพกา กล่าว
“มันเป็นทางเลือกที่ฉลาดในการไม่เพิ่มชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ”