เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
งานสัมมนาคณะสังคมศาสตร์ มศว อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าที่้สุดในอาเซียน พร้อมเปิด 7 กับดัก ซ้ำยังเหลื่อมล้ำซ้ำซาก แนะรัฐบาลเพิ่มบทบาทไทยในเวทีโลก แก้ความเหลื่อมล้ำ ยกเครื่องระบบการศึกษา รื้อระบบภาษีเป็นอัตราก้าวหน้า คนรวยต้องจ่ายแพง ด้าน กก.ผจก.เอสเอ็มอีแบงก์ ระบุ จุดอ่อน SMEs ไทยขาดสภาพคล่อง ตัวเล็กมาก-ขาดหลักประกัน
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดสัมมนา “พลิกกลยุทธ์ กอบกู้เศรษฐกิจไทย” โดยมี รศ.ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์เพื่อสังคม มศว เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “กับดักเศรษฐกิจไทย : ทางแก้และทางรอด” ระบุว่า เศรษฐกิจเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งช่วงหลังเกิดโควิด-19 หลายคนต่างมองว่าน่าจะเห็นแสงอุโมงค์ แต่ขณะนี้กลับเกิดเหตุแทรกซ้อนจากปัญหามากมาย ทั้งการเมืองในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ สงคราม การเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดการค่าครองชีพ เงินเฟ้อ กลายเป็นปัญหาใหญ่
“สิ่งที่อยากเตือน คือ แนวโน้มของสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เร็วกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบความผันผวนมากมาย การบริหารนโยบายการเงินการคลังระหว่างปัจจุบันไปจนถึง 1-2 ปี ต้องทำด้วยความระมัดระวัง ไม่อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย มองภารกิจแคบจนเกินไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า หลายคนอาจดีใจว่าเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 2 ปีนี้ฟื้นตัวแล้ว มีอัตราการขยายตัว 2.5% แต่เมื่อเทียบประเทศอื่นในอาเซียนซึ่งขยายตัวดีกว่า ถือว่าไทยฟื้นตัวช้าที่สุด ขณะที่การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พบว่า อันดับของไทยลดต่ำลงจากช่วงก่อนโควิดเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ถ้าเราไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว เราจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้เลย โดยกับดักเศรษฐกิจไทย จะเกิดจาก 7 เรื่องหลักๆ คือ
1. กับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ไม่มีการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเรื่องเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาคน
2. ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง ไทยเป็นเศรษฐกิจเปิด มีรายได้หลักมาจากการส่งออก ทำให้ต้องพึ่งพาภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ตอนนี้ไทยไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ไหน ไม่เข้าร่วมเขตการค้าเสรีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (CPTPP) ไม่ได้ทำข้อตกลงการค้าใหม่ ๆ เรื่องเหล่านี้มีความคืบหน้าน้อยมาก
3. การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี ไทยมีการใช้เทคโนโลยีอย่างมาก แต่ขาดความรู้และความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี เมื่อปีที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ พบว่าคนไทยใช้จ่ายเงินจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล, เฟซบุ๊ก, ยูทูป แต่ไทยเก็บภาษีได้น้อยมาก
4. ภาวะโลกร้อน จากการสำรวจพบว่าไทยยังไม่ได้ผ่านตามเกณฑ์อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการทรัพยากรทางน้ำ ทางทะเล ป่าไม้ ขณะเดียวกัน บริษัทรับงานสาธารณูปโภคที่อังกฤษได้ประเมินการปล่อยก๊าชคาร์บอนเปรียบเทียบว่า ในโลกจากปี 1959 จนถึงปี 2032 ซึ่งไทยอยู่อันดับ 2 ของโลก ที่มีการปล่อยก๊าซและทำลายมากที่สุด
5. สังคมสูงวัย ขณะนี้สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กำลังจะเพิ่มเป็น 30 % ของประชากรทั้งหมดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คนที่อยู่ในวัยแรงงานต้องดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก และไทยเป็นสังคมสูงวัยก่อนสังคมที่มีฐานะ “แก่ก่อนรวย”
6. ภาวะหนี้สิน ไทยมีหนี้ครัวเรือนขึ้นมาอยู่ที่ 90% เป็นลำดับที่ 11 ของโลก และลำดับที่ 3 ในเอเชีย
และ 7.ความเหลื่อมล้ำ ไทยถูกซ้ำเติมจากโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยี สังคมสูงวัย โลกร้อน ทำให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจเพิ่มอำนาจการต่อรอง แรงงาน รัฐแข่งขันลดภาษี ความผันผวน
“ปัจจุบันคนไทยที่รวยที่สุดประมาณ 10% แต่มีเงินฝาก 93% ในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ถือครองที่ดิน 61% และคนไทยอีก 90% จะมีเงินฝากรวมกันแค่ 7% ของเงินฝากในระบบ และถือครองที่ดิน 39% ที่สำคัญความเหลื่อมล้ำไทยจะถ่ายทอดรุ่นไปสู่รุ่น นั่นคือ หากรุ่นพ่อแม่จบมหาวิทยาลัยรุ่นลูกจะมีโอกาสเรียมหาวิทยาลัย 48% แต่ถ้ารุ่นพ่อแม่จบต่ำกว่าประถมศึกษา รุ่นลูกจะจบมหาวิทยาลัย 16% หรือ 1ใน3 เท่านั้น ในทางกลับกัน ถ้ารุ่นพ่อแม่จบมหาวิทยาลัย รุ่นลูกต่ำกว่าประถมศึกษาเพียง 18% แต่ถ้ารุ่นพ่อแม่ต่ำกว่าประถมศึกษา รุ่นลูกต่ำกว่าประถมศึกษา 49%” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะโอกาสของคนไทยไม่เท่าเทียมกัน ฉะนั้น อยากให้ทุกคนตระหนักว่ากำลังเผชิญสิ่งเหล่านี้ โจทย์เศรษฐกิจไทยจึงไม่ใช่เพียงการเติบโต หรือเงินเฟ้อ แต่จะเป็นการเดินหน้าประเทศต่อไปอย่างไร เพื่อจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
สำหรับทางแก้และทางรอดที่สามารถทำได้ เริ่มตั้งแต่ภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง ต้องปรับบทบาทไทยในเวทีโลก เพราะต้องยอมรับว่าบทบาทของไทยตอนนี้แทบจะหายไป แม้ปลายปีจะเป็นเจ้าภาพเป็นประธานเอเปค แต่เราไม่เห็นว่าการที่ไทยเป็นเจ้าภาพ จะแก้ปัญหาใหญ่ของโลกอย่างไร ประธานเอเปคจะทำอะไรบ้างให้โลกได้เห็น ในกลุ่มประเทศอาเซียนมีเวทีหลากหลาย ต้องใช้เวทีเหล่านี้ให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น และการแสดงบทบาทเหล่านี้ จะช่วยทำให้ไทยมีโอกาสมากยิ่งขึ้นในการรวมกลุ่มและการสร้างประโยชน์ต่างๆ ภาครัฐ ภาคนโยบาย การเมือง พร้อมหรือยังว่าตำแหน่งของประเทศไทย อยู่ไหน ต้องเริ่มทำก่อนที่สถานะในเวทีของประเทศจะถดถอยลงเรื่อยๆ
ส่วนการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี หัวใจคือ เรื่องคนและกติกา ถ้าใครสัมผัสอยู่กับการประกอบธุรกิจเทคโนโลยี เราขาดคนที่มีความพร้อม ต้องยกเครื่องระบบการศึกษาไทย ดึงคนเก่งด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลก การที่มาอยู่ที่นี้จะเป็นการถ่ายทอดให้คนของเรา ต้องรีบทำ อีกทั้งต้องปรับรื้อ กฎหมาย กฎระเบียบ ซึ่งธุรกิจ 4.0 หลายๆ ธุรกิจอาจจะผิดกฎหมาย รวมถึงต้องสร้างระบบข้อมูลแบบเปิด และสร้างแพลตฟอร์ม คนไทยเพื่อคนไทย จะทำให้ธุรกิจไทยแข่งขันยาก และเสียเปรียบ การได้ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมไทย และพฤติกรรมของคนไทยจะอยู่กับต่างชาติทั้งหมด
ขณะที่ ภาวะโลกร้อน ต้องสร้างความชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว จะส่งเสริมให้คนทำอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องชัดเจนว่าจะส่งเสริมอย่างไร รวมถึงทำความเข้าใจกับสังคมว่าสิ่งที่ประชาชนอาจจะต้องแบกรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างไร และภาคธุรกิจต้องดำเนินการอย่างไร และปรับโครงสร้างธุรกิจพลังงาน เช่นเดียวกับ สังคมสูงวัย ต้องมีการทบทวนกติกาการใช้แรงงานต่างด้าว รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจภาคการดูแล (Care Economy) และต้องเร่งสร้างระบบสวัสดิการและเสริมการออมภาคบังคับ ให้บำนาญเดือนละ 3,000 บาท
ส่วนภาวะหนี้สิน อยากให้แก้กฎหมายเพื่อฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก และบุคคลธรรมดา และรัฐดำเนินนโยบายเชิงรุกในการไกล่เกลี่ย ปรับโครงสร้างหนี้ และเพิ่มผู้ประกอบการทุนผู้ประกอบการ ด้านความเหลื่อมล้ำ ถ้าจะปิดประตูความเหลื่อมล้ำ ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนาและการกำหนดนโยบายสาธารณะ โดยต้องมีการเปลี่ยนตัวชี้วัดการพัฒนา และเปลี่ยนระบบการประเมินนโยบายสาธารณะ ขณะเดียวกันต้องสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันและสวัสดิการถ้วนหน้า ทั้งการลงทุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ลงทุนด้านการศึกษา โครงการสร้างทักษะตลอดชีวิต ส่งเสริมภาคเศรษฐกิจห่วงใย บำนาญประชาชน เงินอุดหนุนถ้วนหน้า และประกันการจ้างงาน และที่ดิน พลังงาน
อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการดำเนินการเรื่องปฎิรูประบบภาษีให้กลับมาเป็นระบบที่ก้าวหน้า ควรมีการปฎิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล มีการแข่งขันลดภาษี ทุกประเทศได้เงินภาษีลดลง ภาษีความมั่งคั่ง และปฎิรูประบบประกันสังคม และลดการผูกขาดและกระจายอำนาจ ควรกระจายอำนาจปกครองสู่ท้องถิ่น โรงเรียน โรงพยาบาล ปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และจัดระบบข้อมูลแบบเปิด
ด้าน น.ส.นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวในหัวข้อ “กลยุทธ์เอสเอ็มอีสู่มั่นคงและมั่งคั่ง” ว่า SMEs ในประเทศไทยมีทั้งหมดมากกว่า 3 ล้านราย และมากกว่า 87% เป็นรายย่อย (MICRO ) ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการค้าและบริการ ซึ่งจีดีพีของเอสเอ็มอีมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจรวมประมาณ 1 ใน 3 หรือมีสัดส่วน 35.3% ของจีดีพีประเทศ เอสเอ็มอีจ้างแรงงาน 12.6 ล้านคน คิดเป็น 33.5% ของการจ้างงานทั้งประเทศ ขณะที่มูลค่าส่งออกของเอสเอ็มอี 13.7% ของมูลค่าส่งออกของประเทศ
“ปัญหาที่มีมายาวนานของเอสเอ็มอีไทย คือ เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งจากการสำรวจถึงสาเหตุ พบว่า ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน 24.02% ไม่มีแผนธุรกิจที่ดิ 19.94% ขาดประวัติการชำระเงิน/เป็นกิจการใหม่ 15.11% ขาดศักยภาพในการทำกำไร/ความสามารถชำระหนี้ได้ 12.82% กิจการไม่เป็นที่รู้จักของสถาบันการเงิน 11.21% ขาดการจัดการทางการเงิน 3.81% เจ้าของหรือผู้บริหารไม่มีความสามารถ 1.33%” น.ส.นารถนารี กล่าว
น.ส.นารถนารี กล่าวต่อว่า เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอียิ่งเล็กยิ่งกระทบมาก อย่าง ระบบรายย่อย (MICRO ) กระทบ 77.8% จุดอ่อนที่เอสเอ็มอี ต้องเร่งปรับตัว คือ ปัญหาขาดสภาพคล่อง และมีช่องว่างที่จะพัฒนาธุรกิจได้อีกหลายด้าน เพราะเอสเอ็มอี ที่มีตราสินค้า มาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการใช้ BCG Model ในธุรกิจยังอยู่ในสัดส่วนที่น้อย
ทั้งนี้ ธนาคารเอสเอ็มอีมีความแตกต่างจากธนาคารอื่น เพราะเป็นการให้ความรู้คู่กับทุน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่เอสเอ็มอีต้องดำเนินการ คือ พัฒนาตนเองให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการตลาด เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริการ การพัฒนานวัตกรรม โดยการเติบโตของเอสเอ็มอี ต้องมี Ecosytem สนับสนุน ทั้งการสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (Co-payment) การสนับสนุนทุนและผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรม ขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสนับสนุนการเรียนรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคุมราคาสินค้า/น้ำมัน/สาธารณูปโภค และอื่นๆ
“เอสเอ็มอีต้องดำเนินการใน 4R เพื่อจะได้เดินไปข้างหน้าได้ คือ Reprocess ปรับกระบวนการ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน Revised Business Model ปรับปรุงธุรกิจสอดรับความต้องการผู้บริโภค ศึกษาพฤติกรรมผู้ซื้อ Restructure ปรับโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสม Rethink เปลี่ยนความคิดใหม่ พัฒนาสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยเอสเอ็มอีต้องนำหลัก ESG(Environmental ,Social และ Governance) และBCG Model มาเชื่อมโยงธุรกิจให้ยั่งยืน” น.ส.นารถนารี กล่าว
ดร.วิทยา อินาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมกาเคม(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวหัวข้อ “ทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน” ว่า การจะทำธุรกิจได้ จะมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ คนและทุน ซึ่งการที่จะทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้นั้น ธนาคารจะดูว่าธุรกิจเอสเอ็มอี ประกอบธุรกิจอย่างไร และเอสเอ็มอีได้ มองสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคตอย่างไร ซึ่งเอสเอ็มอีต้องเรียนรู้เรื่องนี้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่เจ้าของบริหารตัวเอง
“สาเหตุที่ทำให้เอสเอ็มอี ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีไทยจะเป็นเพียงโรงงานผู้ผลิต ซึ่งไม่ได้เป็นกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้องเป็น Smile Cure Theory ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัย ทั้งการสร้างแบรนด์ การดีไซน์ รวมถึงมีโรงงานผู้ผลิต การส่งเสริมการขาย และมีการตลาด ดังนั้น วิธีการหาแหล่งเงินทุน ต้องเข้าหาแหล่งธนาคารพาณิชย์ หรือต้องทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มโอกาสมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ แต่อีกแหล่งเงินทุนที่ง่ายหากธุรกิจเอสเอ็มอีมีข้อมูล มีระบบการบริหารธุรกิจอย่างชัดเจน นั่นคือ การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์” ดร.วิทยากล่าว
นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ที่ปรึกษากรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่กับรายเล็ก มีช่องว่างทั้งทางด้านอัตราดอกเบี้ย ภาษีและการกระจายอำนาจ
“ประเทศนี้เป็นประเทศของคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นประเทศของเอ็มเอสเอ็มอี ถ้าตามข้อมูลของทางราชการ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีประมาณ 3.1 ล้านราย จริง ๆ น่าจะมีมากกว่านี้ เพราะว่าหลายรายคงไม่ได้อยู่ในระบบ ผมเชื่อว่าคนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในระดับนี้น่าจะมีถึง 20 ล้านคน ดังนั้น การออกนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจควรจะคำนึงถึงกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นหลัก เพราะหากคนส่วนใหญ่สามารถค้าขายได้ เศรษฐกิจของประเทศก็จะมีเสถียรภาพ ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ทางออกมีทางเดียว คือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งระบบ ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแรงและสมดุลขึ้น พัฒนาอย่างทั่วถึง ที่สำคัญคือ จะส่งผลต่อการลดความขัดแย้งในทุกมิติของสังคม โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองในภาคประชาชน”
นายณัฐพงศ์กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศ ต้องเร่งแก้ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ความเหลื่อมล้ำเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็กกับรายใหญ่จะต้องมีภาระดอกเบี้ยเงินกู้หรือความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนที่ไม่ต่างกันมากจนเกินไป 2. นโยบายด้านภาษีของประเทศจะต้องมุ่งช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยคนที่มีรายได้สูง บริษัทขนาดใหญ่ควรต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้า ขณะที่คนตัวเล็กต้องมีภาระภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า 3. เน้นการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น กระจายงบประมาณไปให้ทั่วถึง เพื่อให้ประเทศได้รับการพัฒนาในทุกระดับ ไม่กระจุกตัว