ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เห็นชอบเปิดกว้างให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สามารถสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซ่ึงจะเปิดรับสมัครในวันที่ 29 มี.ค.-4 เม.ย.60 นี้
ผศ.ดร.สุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวว่า การปลดล็อคหรือเปิดกว้างดังกล่าว ควรใช้ในกรณีจำเป็นพิเศษ หรือ กรณีเฉพาะกิจ หรือเฉพาะพื้นที่เท่านั้น เพราะมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและวิธีดำเนินการเข้าสู่ตำแหน่ง ขัดหลักวิชาการและเจตนารมณ์ของกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา, พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ แต่ให้สมัครแล้วทำให้มีคุณสมบัติภายหลัง อีกทั้งให้ได้รับเงินเดือนตามบัญชี ของผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วย จึงเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการปฏิบัติที่มิชอบด้วยกฎหมาย
ผศ.ดร.สุรวาท กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังขัดกับหลักการวิชาชีพ ซึ่งเห็นได้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา ก็ไม่ได้เปิดกว้างให้บัณฑิตอื่นเข้าสู่วิชาชีพครูเช่นนี้ รวมถึงประเทศในอาเซียนทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา ยังยึดหลักการสำคัญที่ผู้เข้าสู่การประกอบวิชาชีพต่างจากประกอบอาชีพ คือ การมีมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งครอบคลุมสมรรถนะวิชาชีพ อันประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่ดีของวิชาชีพ
“หลังจาก ก.ค.ศ.เปิดกว้างดังกล่าว พบว่ามีเสียงคัดค้านจากหลายกลุ่มทั้งนักวิชาการ คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ประชาชนทั่วไป ขณะที่ครู อาจารย์ ผู้บริหารโรงเรียน อาจมีภาระยุ่งยากกับการสอนงาน หรือมอบหมายงานให้แก่ครู ที่ไม่เคยเรียน ไม่เคยฝึกและไม่เคยทำ จะเกิดการปฏิเสธครูเหล่านี้ได้ ส่วนผู้ปกครองก็จะเกิดความกังวล เพราะเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่บุตรหลานอาจได้รับผลกระทบจากการเปิดกว้างครั้งนี้”
ผศ.ดร.สุรวาท กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามเชื่อว่า หลังจากยุคการปกครองระบบพิเศษนี้ไปแล้ว มีการเลือกตั้งฝ่ายการเมืองเข้ามาบริหาร มีรัฐมนตรีที่มีความเป็นครูอย่างแท้จริง จะไม่เสี่ยงต่อความเสียหายเช่นนี้ต่อไปแน่นอน เพราะที่ผ่านมาเราจะไม่เคยเห็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจทางการศึกษา รวมทั้งฝ่ายการเมือง มีแนวคิดเช่นนี้ เพราะฉะนั้นมั่นใจว่า หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และมีการเลือกตั้ง จะมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน
“อยากจะฝากถึงนักเรียน ม.6 ที่มีความรัก ศรัทธาในความเป็นครู ว่าถ้าเรียนครูเเล้วจะได้เป็นครู แต่เรียนอย่างอื่นอาจต้องไปประกอบอาชีพอื่น อาจจะไม่สามารถเป็นครูได้เช่นปีนี้ เพราะเรื่องนี้ไม่มีความแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาก็มีความแตกต่างกันไปทุกปี ดังนั้น หากจะสมัครเข้าเรียนหลักสูตรครูของสถาบันใดก็ตามขอให้เป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ อย่าเชื่อว่าเรียนอะไรก็เป็นครูได้ เพราะผู้ไม่ได้เรียนครูมาคงยากที่จะผ่านการทดสอบ หรือหากจะมีก็คงไม่มากนัก” คณบดีคณะครุศาสตร์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ