“วีระศักดิ์” รับริเริ่มสร้างอะควาเรียมหอยสังข์ ชี้กำหนดสเปกโดยผู้เชี่ยวชาญของรัฐ และดำเนินการตามระเบียบทุกประการ/วงเงิน 839 ล้านผูกพัน 4 ปี ด้านอดีต ผอ.วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เผยช่วงคุมก่อสร้าง ปี 46-52 กรรมการไม่อนุมััติแก้แบบ
กรณีโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา หรืออะควาเรียม ของวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่ดำเนินการก่อสร้างมานานถึง 10 ปียังไม่แล้วเสร็จ และขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบหมายให้ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ และผู้เชี่ยวชาญด้านอะควาเรียมลงไปตรวจสอบเก็บข้อมูล นั้น
ล่าสุดนายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี ในฐานะผู้ว่าจ้างการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลาฯ เปิดเผยว่าในสมัยดำรงตำแหน่ง ผอ.วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา เมื่อปี 2436-2537 ได้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา และเมื่อได้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กอศ. ก็คิดโครงการที่จะก่อสร้างอะควาเรียมอาคารเป็นรูปหอยสังข์ เพราะเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของ จ.สงขลา และถือเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามด้วย โดยจุดประสงค์ของการก่อสร้างอาคาร ก็เพื่อจัดแสดงพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ มีโรงสูบน้ำและระบบกรองน้ำ ถังพักน้ำ บ่อสำหรับเลี้ยงและอนุบาลสัตว์น้ำ บ่อสำหรับรักษาสัตว์น้ำที่เจ็บป่วย ห้องแสดงนิทรรศการ ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการต่างๆ ห้องเก็บและเตรียมอาหารสัตว์ ระบบระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบการฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ระบบไฟฟ้าแลเครื่องปรับอากาศฟื้นฟูระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ ปลูกป่าชายเลนและทางเดิน สะพานเทียบเรือ โรงเก็บเรือและคานขึ้นเรือพร้อมเรือสำหรับออกทำการวิจัยรวบรวมและลำเลียงตัวอย่างสัตว์น้ำ ปรับปรุงพื้นที่ ถนนทางเท้า ที่จอดรถยนต์ และจัดภูมิทัศน์
โดยมีการกำหนดสเปกโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีอธิบดีกรมการประมง ในสมัยนั้นเป็นประธานโดยเป็นงบประมาณผูกพัน 4ปี จำนวนเงิน 839 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามโครงการ ในปี 2554 แต่ต้องจ่ายล่วงหน้าผู้รับเหมา125ล้านบาท เนื่องจากในปี 2551 มีมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เฉพาะกิจ ให้จ่ายเงินล่วงหน้าได้ 15% เพื่อให้คู่สัญญาหรือผู้รับจ้างทำงานได้คล่องตัว ในการก่อสร้าง และยืนยันว่าการดำเนินการสมัยที่ตนเป็นเลขาธิการ กอศ. ได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบราชการทุกประการ
นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ตนจะเกษียณอายุราชการในปี 2551ผู้รับเหมาได้มาขอแก้ไขสัญญาแบบรูปรายการ โดยอ้างว่าแบบไม่ถูกต้อง แต่ตนไม่ยอมให้มีการแก้ไข เพราะก่อนทำสัญญาคณะกรรมการฯได้ตรวจสอบแบบและตกลงกันเรียบร้อยแล้ว จนกระทั่งเกษียณออกมา
“ผมอยากให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะตอนนี้คนไม่รู้ก็พูดไปเรื่อย ดึงผมเข้าไปเกี่ยวข้อง คงต้องตรวจสอบว่าหลังที่ผมเกษียณออกมาแล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง”นายวีระศักดิ์ กล่าว
ด้าน ดร.มงคลชัย สมอุดร ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานด้านอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง สอศ. ซึ่งเป็นอดีต ผอ.วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ช่วงปี 2546-2552 กล่าวว่า ตอนนั้นในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมงาน ทราบว่ามีปัญหาข้อขัดแย้งที่ผู้รับจ้างกล่าวอ้าง คือเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมกับแบบวิศวกรรมมีความขัดแย้งกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างบอกว่าเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ปกติในการเขียนแบบก่อสร้าง โดยในเรื่องการเขียนแบบก่อสร้างผู้รับจ้างอ้างว่าแบบมีความไม่ความชัดเจน มีการทับซ้อนของฐานราก จึงต้องขอแก้ไขแบบรูปรายการขณะนั้นคณะกรรมการฯที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ประชุมเพื่อหารือพร้อมกัน และให้ความเห็นว่าแบบก่อสร้างนี้ทางคณะกรรมการผู้ออกแบบได้มีการชี้แจงในวันที่ชี้สถานที่ พร้อมมีการอธิบายแบบรูปรายการอย่างละเอียดแล้ว และผู้รับจ้างก็ได้มีการซักถามคณะกรรมการออกแบบ ซึ่งคณะกรรมการออกแบบก็ได้ทำการชี้แจงแบบฯ ดังกล่าวไปอย่างครบถ้วนทุกประการ โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆในทุกรายการก่อสร้างแล้ว ผู้รับจ้างเองก็ยอมรับในแบบรูปฯนั้น จึงถือว่าแบบรูปรายการทั้งหมดนั้นถูกต้องทุกประการ เพียงพอที่จะดำเนินการก่อสร้างได้
ดังนั้น เมื่อผู้รับจ้างขอให้มีการแก้ไขแบบรูปรายการดังกล่าว คณะกรรมการฯในขณะนั้นจึงไม่ยอมให้มีการแก้ไขแต่อย่างใด จนกระทั่งตนถูกย้ายออกจากตำแหน่ง ผอ.วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ มาอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2552 จากนั้นตนก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้อีก
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ