ผลสอบข้อเท็จจริงอาจารย์ มมส ตีไหล่ “น้องแบม” นิสิตที่เปิดโปงทุจริตเงินคนจน ทำผิดจรรยาบรรณ ชงอธิการบดี ตั้งกก.สอบต่อ แต่ยังไม่เคลียร์หลายประเด็น “หมออุดม” มอบ สกอ.ขอสำนวนสอบฯ ทั้งหมด ชี้นิสิตทำคุณประโยชน์ต้องปกป้อง-คุ้มครองสิทธิ
จากกรณีน้องแบม-น.ส.ปณิดา ยศปัญญา นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตภายในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ขณะฝึกงานอยู่ ทำให้รัฐเสียหายหลายล้านบาท ก่อนขยายผลพบการทุจริตในหลาย จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่ามี อาจารย์คนหนึ่งให้กราบผู้อยู่เบื้องหลังการทุจริต พร้อมกับตำหนิว่าตนเป็นเด็กโกหก และถูกทุบหลัง จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร้องขอให้ทางมหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนอาจารย์และผู้เกี่ยวข้องในคณะทั้งหมด โดยมีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 9 คน ประกอบด้วย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณบดี 3 คณะ กองกิจการนิสิต และ เลขานุการสภาคณาจารย์ โดยมีกำหนดว่าจะประกาศผลในวันนี้ 12 มี.ค.2561
วันที่ 14 มี.ค.2561 นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)ได้รายงานเรื่องที่มหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอาจารย์ที่ปรึกษากรณีตีไหล่เด็ก อย่างไม่เป็นทางการ โดยสรุปว่า จากการประมวลพยานหลักฐานแล้ว ยืนยันอาจารย์ที่ปรึกษาตีไหล่เด็กจริง ซึ่งลักษณะนี้ไม่ใช่การปลอบ หรือให้กำลังใจ และได้สรุปว่าอาจารย์ที่ปรึกษาคนดังกล่าวทำผิดจรรยาบรรณ จึงเสนอให้อธิการบดี ตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องจรรยาบรรณ ส่วนประเด็นอื่น ๆ ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยสรุปมาในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ไม่มีสำนวนรายละเอียดอื่น ๆ
“เรื่องนี้ผมคิดว่ายังไม่มีความชัดเจน ซึ่งก็ได้หารือกับเลขาธิการ กกอ.และให้กลับไปดูให้ละเอียด เพราะสิ่งที่เราต้องการเห็นคือสำนวนทั้งหมด ซึ่งมีหลายเรื่องที่ไม่สามารถสรุปได้ จึงตอบไม่ได้ว่าผิดหรือไม่ผิด เนื่องจากในมุมของคนเป็นผู้บริหารมองว่า มหาวิทยาลัยได้คุ้มครองสิทธิของนักศึกษาหรือไม่ เพราะหลังจากที่เกิดเรื่อง อาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ได้บอกให้เด็กเปลี่ยนสถานที่ทำวิทยานิพนธ์ แต่อาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเป็นคู่กรณี ก็ยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่เหมือนเดิม ถ้าเป็นแบบนี้จะเกิดความเป็นธรรมกับเด็กหรือไม่ ในเมื่ออาจารย์คู่กรณี ก็ยังเป็นที่ปรึกษาอยู่ ทำไมมหาวิทยาลัยไม่ดูแลในเรื่องนี้ เป็นต้น”
รมช.ศึกษาธิการกล่าวและว่า ดังนั้นจึงขอให้เลขาธิการ กกอ. สอบถามรายละเอียดว่า ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ผู้บริหารในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ให้ความใส่ใจ เพราะเป็นเรื่องซึ่งสังคมทั่วไปเห็นตรงกันว่า เด็กทำในสิ่งที่ถูกต้องทำสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นสถานศึกษาจะต้องคุ้มครองเด็ก จะต้องปกป้อง ที่สำคัญคือควรจะให้การยกย่องเชิดชูมากกว่าที่ได้รับ ซึ่งตนได้มอบหมายให้ สกอ.ไปดูเพิ่มเติมอีกครั้งว่าจะดูแลเด็กเพิ่มเติมมากขึ้นอย่างไร
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ