“อาชีวศึกษา”กระดูกสันหลังอุตสาหกรรม ชู’ทวิภาคี’เข้มทักษะจบพร้อมทำงาน
นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ว่า ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศขณะนี้กำลังคนสายวิชาชีพทั้งหลายถือเป็นกระดูกสันหลังใหญ่ แต่ขณะนี้เราขาดทั้งปริมาณคือจำนวนไม่เพียงพอ และคุณภาพที่ต้องมีทักษะที่สูงขึ้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติได้ มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ และไม่สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี ได้
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้เราเน้นการเรียนอาชีวะแบบทวิภาคี เป็นการเรียนแบบเข้มข้น อย่างน้อยครึ่งเวลาของหลักสูตร เช่นหลักสูตร 2 ปีต้องไปอยู่ที่สถานประกอบการอย่างน้อย 1 ปี โดยมีอาจารย์ตามไปประกบตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายทาง รวมถึงการประเมินผล ซึ่งจะทำให้สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ เพราะที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนว่าเด็กจบแล้วทำงานไม่ได้ ต้องใช้เวลาฝึกอย่างน้อย 1-2 ปี แต่ระบบทวิภาคีนั้นมีความร่วมมืออย่างเข้มข้น และร่วมกันจัดทำหลักสูตร ประเมินผล ทำให้โดนใจสถานประกอบการ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเรียนอาชีวะจบแล้วทำงานได้ทันที
“วันนี้มีคนเรียนจบ ปวช. ปวส. ประมาณ 20 ล้านคน แต่ยังไม่พอเพราะการเปลี่ยนแปลงของประเทศไปเร็วมาก เราต้องนำคนกลุ่มนี้มาพัฒนาศักยภาพ ทำหลักสูตรให้เข้มข้นและต่อเนื่องให้มีทักษะสูงขึ้น และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ขณะเดียวกัน ก็ทำโครงการยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวะตามนโยบายรัฐบาล หรืออาชีวะพรีเมียม 6 สาขา ใน 19 วิทยาลัยที่จะเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2561 นี้ เป็นการนำร่องยกระดับคุณภาพการอาชีวะก่อนการขยายผลไปยังวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไป”นพ.อุดม กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ