ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานในพิธีลงนาม “โครงการความร่วมมือภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตพรีเมี่ยม ระหว่างบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กับสถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษา” เพื่อพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานการศึกษาภาครัฐและเอกชน เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลถึงการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ มีสมรรถนะ ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และมีความพร้อมในการประกอบอาชีพ ตามนโยบายของประเทศที่ต้องการให้ผู้จบการศึกษามีงานทำทุกคน
ศ.คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า โครงการความร่วมมือที่จัดให้มีขึ้นนี้ เป็นการที่ภาครัฐและเอกชนทั้งสถาบันการอาชีวศึกษา สถาบันอุดมศึกษา และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้มาทำงานร่วมกันเพื่อร่วมผลิตบัณฑิตพรีเมี่ยม โดยยึดหลักกรอบนโยบายการพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ การพัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ ตามแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปอุดมศึกษา 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.การปรับกระบวนการผลิตกำลังคนสายวิชาการและวิชาชีพ ให้มีประสิทธิภาพตอบสนองการพัฒนาประเทศด้วยกระบวนการเรียนรู้ยุคใหม่ เน้นความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สาขาที่มีความจำเป็น มีความเป็นพลเมือง สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ได้กำลังคนระดับสูงที่สามารถสร้างงานที่เหมาะสมในการพัฒนาประเทศ 2.การปรับกระบวนการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบ เพื่อรองรับการปฏิรูปการศึกษา คุณภาพของการศึกษา คือคุณภาพของผู้สอน คุณภาพการสอน จะเกิดได้เมื่อครูมีค่านิยม ทักษะ และความรู้ของความเป็นครูที่ถูกต้องเหมาะสม 3.การเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรม อุดมศึกษามีส่วนสำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะเป็นการศึกษาระดับสูง มีทั้งการวิจัย การพัฒนาและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี 4.การพัฒนาอุดมศึกษาให้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเสมอภาคมในสังคม อุดมศึกษาเป็นองค์กรที่ผลิตคนออกมารับใช้สังคม ควรมีบทบาทในการสร้างความสมดุลและช่วยแก้ปัญหาวิกฤติของสังคม 5.การปรับระบบบริหารและจัดการระบบอุดมศึกษาเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปอุดมศึกษาไปสู่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
ด้าน ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า สถาบันการอาชีวศึกษา มีเป้าหมายหลักในการผลิตบัณฑิตที่มีทั้งความรู้ มีทักษะฝีมือ และมีคุณธรรมออกไปรับใช้สังคม เป็นบัณฑิตนักเทคโนโลยีสายปฏิบัติการที่รอบรู้ศาสตร์เชิงลึกด้านอาชีพ โดยใช้รูปแบบทวิภาคีในการการจัดการเรียนการสอน จึงสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการมาร่วมพัฒนาเพื่อผลิตกำลังคนระดับปริญญา ให้มีคุณภาพและศักยภาพตรงกับความต้องการของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการอาชีวศึกษาตั้งอยู่ทั่วทุกภาค ความร่วมมือครั้งนี้ อาชีวศึกษาจะร่วมพัฒนาบัณฑิตพรีเมี่ยมในหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมการค้า การตลาด การจัดการธุรกิจค้าปลีก เทคโนโลยีไฟฟ้า และด้านอาหารและเครื่องดื่ม
ทั้งนี้ สถาบันการอาชีวศึกษา เป็นสถาบันด้านการศึกษาวิชาชีพ และเทคโนโลยี ที่มีกระบวนการศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี รวมทั้งยกระดับการศึกษาวิชาชีพให้สูงขึ้น ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาระบบทวิภาคี โดยความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วยสถาบันการอาชีวศึกษา 19 แห่ง แบ่งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง จำนวน 5 แห่ง สถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 แห่ง สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 แห่ง สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ จำนวน 4 แห่ง สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก และสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ซึ่งวิทยาลัยในสังกัด สอศ.จะร่วมกันพัฒนาการผลิตบัณฑิตพรีเมี่ยมในหลักสูตรด้านการจัดการนวัตกรรมการค้า / การตลาด / การจัดการธุรกิจค้าปลีก ด้านเทคโนโลยีไฟฟ้า และด้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งจะเป็นแนวทางการร่วมผลิตกำลังคนระดับปริญญาตรี ที่มีคุณภาพ และสมรรถนะระดับพรีเมี่ยม
ด้าน นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ซีพี ออลล์ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพ “คน” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย จึงได้ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่องด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาและเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าทำงานกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจซีพี ออลล์ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานการศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน สามารถจัดการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและผลิตกำลังคนได้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ
ล่าสุด ซีพี ออลล์ ประสานความร่วมมือร่วมกับภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลิตบัณฑิตพรีเมี่ยม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาและผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรีให้มีคุณภาพสูงและมีศักยภาพตรงตามความต้องการของประเทศและสถานประกอบการอย่างเป็นระบบ ในหลักสูตรการศึกษาด้านการจัดการนวัตกรรมการค้า / การตลาด / การจัดการธุรกิจค้าปลีก, ด้านเทคโนโลยีไฟฟ้า และ ด้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยการเรียนรู้และฝึกปฎิบัติในสถานประกอบการจริงในรูปแบบของ Work-Integrated Learning (WIL) ซึ่งจะเริ่มในปีการศึกษา 2562 ที่จะถึงนี้
“การเรียนรู้ภาคทฤษฎีควบคู่กับการปฎิบัติงานจริง นับเป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยให้มีองค์ความรู้ มีคุณภาพและมีทักษะการทำงานตรงตามความต้องการของสังคมและชุมชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นไปตามนโยบายซีเอสอาร์ด้านส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน และตรงตามปณิธานของ ซีพี ออลล์ คือ “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” เช่นเดียวกับเจตนารมณ์ที่ ซีพี ออลล์ ได้ก่อตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งมีรูปแบบการจัดการศึกษามีเอกลักษณ์เฉพาะที่มีความเหมาะสมกับโลกในยุคปัจจุบัน” นายก่อศักดิ์ กล่าวปิดท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ