ดึงภาคเอกชนสนับสนุนทุนให้เด็กไปฝึกงานประเทศจีน
วันที่ 31 พ.ค.2561 นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการ “อาชีวศึกษาพรีเมียม” ว่า วิทยาลัยในโครงการฯจำนวน 27 แห่ง เร่ิมเปิดการเรียนการสอนแล้ว พบว่าในภาพรวมรับเด็กได้ครบแล้วประมาณ 70-80% แต่ยังมีวิทยาลัยบางแห่งที่มี 2 สาขา ที่เด็กยังมาสมัครไม่เต็ม คือ สาขาระบบขนส่งทางราง, สาขาแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์
ทั้งนี้ สาเหตุอาจมาจากที่โครงการอาชีวศึกษาพรีเมียม เปิดรับช้าเกินไป เด็กบางคนได้ที่เรียนแล้วจึงไม่อยากย้ายมาเรียน ดังนั้น จึงให้วิทยาลัยที่ยังมีผู้เรียนไม่เต็ม ขยายการรับนักเรียนใน 2 สาขานี้ออกไปจนถึงวันที่ 10 มิ.ย.นี้ และอีกสาเหตุ คือ ผู้ปกครองกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่ายไปฝึกปฏิบัติงานที่จีน เนื่องจากทางโครงการฯ บังคับว่า ผู้เรียนจะต้องเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานจริงที่ประเทศจีนเป็นเวลา 1 ปี โดยเราได้เจรจาตกลงความร่วมมือกับ 4 วิทยาลัยของจีน อาทิ วิทยาลัยการคมนาคมขนส่งสาธารณะ ฉ่งซิ่ง, มหาวิทยาลัยซานตง เจียวทง, วิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น, วิทยาลัยเทคนิค เทียนจิน
“โครงการอาชีวะพรีเมียม เป็นการเรียนหลักสูตรพันธุ์ใหม่ เป็นสาขาที่ตอบโจทย์ ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เด็กจะมีความรู้ทักษะและสมรรถนะสูง เรียนจบแล้วสามารถเข้าทำงานเลย แต่ผู้ปกครองกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายช่วงไปฝึกงานที่ประเทศจีน ตนจึงหาวิธีโดยให้ สอศ.ให้ทุนสนับสนุนแต่อาจจะยังไม่พอ และขอให้ สอศ.ไปเจรจากับผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ต้องการเด็กสาขาเหล่านี้มาร่วมให้ทุนสนับสนุนเด็กด้วย เพราะเด็กเหล่านี้เมื่อเรียนจบมาจะมีสมรรถนะสูง”
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ได้ขอให้ 3 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดครอสอบรมให้กับครูอาชีวะ และมาช่วยเป็นครูพี่เลี้ยงให้ และให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ช่วยในเรื่องสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ให้กับวิทยาลัยเกษตร 5 แห่ง ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ