วันเสาร์ ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564, 16.37 น.
อาชีวะอุบลชวนชม หอศิลป์ราชธานีศรีวนาไล
คุณค่าของหลักฐานทางประวัติศาสตร์อาทิ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ศิลปะสถาปัตยกรรม ฯลฯ ล้วนแต่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของประเทศชาติเป็นอย่างมาก โดยถือเป็นเป็นทรัพยากรทางวัฒนธรรมประเภทหนึ่งที่มนุษย์ใช้สติปัญญาและความรู้ความสามารถสร้างขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเป็นมาและการดำเนินชีวิตในช่วงเวลาแต่ละยุคสมัยที่มีลักษณะเฉพาะทางกายภาพของผู้คนในแต่ละชุมชน สังคม ที่แตกต่างกันออกไป จึงก่อให้เกิดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ต้องอนุรักษ์ไว้ให้คงสภาพตามความเป็นอยู่เดิมให้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า เรียนรู้ และนำไปถ่ายทอดให้กับคนในรุ่นต่อ ๆ ไปได้
ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “งานด้านการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมนั้น เป็นงานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุ และองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญด้านอื่นทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษา และดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป”
จากคณะผู้บริหาร ครู คณะวิชาศิลปกรรม รุ่นบุกเบิกที่มองการณ์ไกล ได้ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับครู นักเรียน นักศึกษา อย่างน่าชื่นชม ด้วยการจุดประกายแนวคิด สร้างแหล่งเรียนรู้จากพื้นที่เล็กๆ เติบใหญ่เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญระดับภาคอีสานและระดับประเทศ ที่จะขอเชิญชวนทุกๆ ท่านที่เข้ามาเมืองอุบลราชธานี ได้แวะมาเยี่ยมเยือนชม หอศิลป์ราชธานีศรีวนาไล ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี
หอศิลป์ราชธานีศรีวนาไล วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้การบริหารงานโดย นางลฏาภา แสวงทรัพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี คนปัจจุบัน เดิมชื่อศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นหอศิลป์ราชธานีศรีวนาไล ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2523 เป็นสถานที่รวบรวม จำลองเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวอีสานที่จัดตั้งโดยคณะครู คณะวิชาศิลปกรรม โดยการสนับสนุนของผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
นายอำนวย วรพงศธร อดีตข้าราชการครู คณะวิชาศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานีหนึ่งในครูผู้บุกเบิกหอศิลป์ราชธานีศรีงนาไล เล่าว่า “ตนได้มีโอกาสเดินทางและสอนหนังสือในวิชาศิลปะพื้นบ้าน เดินทางตามชนบทในหมู่บ้านต่างๆ ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดในภูมิภาคอีสาน แล้วไปพบผลงานที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นศิลปกรรมที่น่าเก็บรักษาไว้ เนื่องจากสิ่งของเหล่านั้นไม่ได้รับการดูแล มีแต่จะชำรุดทรุดโทรมหักพังไป พระสงฆ์ไม่ได้ดูแล เกิดความเสียดาย ชาวบ้านมองเป็นสิ่งของที่ไร้ค่า ตนจึงได้ไปขอซากศิลปะที่หักพังเหล่านั้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อนำมาเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ให้นักเรียน นักศึกษาได้หาความรู้จากผลงาน และเก็บไว้เพื่อสืบสานความเป็นวัฒนธรรมอีสานให้คงอยู่ พบว่าชาวบ้านและพระสงฆ์ได้ตอบสนองดีมากได้ให้โดยง่ายอาจเป็นเพราะเจตนารมณ์ของการนำไปนั้นเพื่ออนุรักษ์และสืบสานไม่ได้นำไปเป็นสมบัติส่วนตัว”
“ผลงานศิลปวัฒนธรรมที่ได้รับการบริจาค ส่วนใหญ่แล้วพบมากที่บริเวณบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่เจริญมาก ส่วนใหญ่ลักษณะของผลงานสามารถจำแนกได้จากที่มาของผลงาน คือจัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คืออยู่ที่วัดและอยู่ที่บ้าน อยู่ที่วัดคือ เป็นเรื่องของศาสนา เช่น ส่วนประกอบ องค์ประกอบของ สถาปัตยกรรม ข้าวของเครื่องใช้ในพระศาสนา เช่น หีบพระธรรม ตู้พระธรรม ฮางฮดน้ำ เป็นต้น รวมถึงคณะครูในคณะวิชาศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์เดียวกัน ก็รวมพลังช่วยกันรวบรวม จัดหา และสำรวจผลงานศิลปกรรมในแต่ละแห่งในแต่ละท้องที่ตามหมู่บ้านและวัดวาอารามในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วนำมาจัดแสดงในห้องแสดงผลงาน ในสมัยนั้น จนกลายมาเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และหอศิลป์ราชธานีศรีวนาไล ในปัจจุบัน”
นายประสิทธิ์ สุรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ผู้มีส่วนสนับสนุนการก่อตั้งหอศิลป์ราชธานีศรีวนาไล กล่าวถึงหอศิลป์ราชธานีศรีวนาไลแห่งนี้ว่า “การจัดการเรียนการสอนด้านศิลปกรรมนั้น หากนักศึกษาได้มีโอกาสศึกษางานศิลปะท้องถิ่นควบคู่ไปกับศิลปะสากล ย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาด้านศิลปะของนักเรียน นักศึกษา การที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี โดยคณะศิลปกรรม ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ศิลป์วัฒนธรรมขึ้นภายในสถานศึกษา โดยรวบรวมผลงานศิลปะ โบราณวัตถุ อุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ใช้เวลารวบรวมอันยาวนานกว่า 30 ปี นำมาจัดหมวดหมู่แสดงไว้ในศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นับเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง ต่อนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ดีมากและหาได้ยากยิ่ง รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนรุ่นใหม่เกิดความรักหวงแหนและภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นของตนอีกด้วย”
นอกจากนี้หากกล่าวถึงคุณค่าของโบราณวัตถุของหอศิลป์ราชธานีศรีวนาไล วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลผ่านงานวิจัย “เรื่องเล่าหอศิลป์ราชธานีศรีงนาไล” โดยนางมนฤดี สุวรรณกูฏ ครูวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ผู้วิจัย พบว่า หอศิลป์ราชธานีศรีวนาไล มีโบราณวัตถุที่เป็นของมีค่าและมีความสำคัญจนกรมศิลปากร ได้เข้ามาสำรวจ ในปี 2554 และในปี 2558 ตามโครงการ “สำรวจขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในความครอบครองของวัดและเอกชน” เพื่อรอการประกาศจากราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ การสำรวจครั้งนั้นมีโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ได้รับจากจดบันทึกและขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรเพื่อรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในปี 2554 จำนวนโบราณวัตถุและศิลปวัตถุเป็นศิลปะสกุลช่างท้องถิ่นอีสาน 8 รายการ ได้แก่ ธรรมมาสน์ 3 รายการ และตู้พระธรรมลายรดน้ำ 5 รายการ
จากนั้นในปี 2558 มีจำนวนโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ 63 รายการ รวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรจากการสำรวจทั้ง 2 ปี เพื่อรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีจำนวนทั้งสิ้น 71 รายการ และจาก 71 รายการนี้ พบว่ามีโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ได้รับการประกาศจากรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 162 ง ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 มีจำนวนเพิ่มอีก 4 รายการ เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ ฝีมือช่างพื้นถิ่น พุทธศตวรรษที่ 24-25 ชนิดไม้ลายรดน้ำ ได้แก่ ธรรมมาสน์ 1 รายการ และตู้พระธรรม 3 รายการ
ทั้งนี้ในแต่ละรายการล้วนมีคุณค่าและความสำคัญ คือ 1.เป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มีคุณค่าทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์และโบราณคดี 2.มีคุณค่าความสวยงามเป็นพิเศษหรือแสดงเอกลักษณ์ฝีมือท้องถิ่นโดยเฉพาะ และ 3.เป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลปกรรม เป็นแบบอย่างทางฝีมือช่างศิลปะให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้
นอกจากนี้หอศิลป์ราชธานีศรีวนาไล ยังจัดแบ่งพื้นที่อีกส่วนภายในหอศิลป์ฯ ไว้จัดแสดงผลงานนักเรียน นักศึกษา ครู คณะวิชาศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี รวมถึงกลุ่มศิลปินอิสระและหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำมาจัดแสดงให้เยาวชนและประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เรียนรู้ ศึกษาผลงาน ด้านศิลปะเกือบทุกแขนงหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามวาระและโอกาสอันสำคัญอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี อาทิ นิทรรศการศิลปินแห่งชาติ นิทรรศการภาพถ่ายเทียนพรรษา นิทรรศการบัวหลวง นิทรรศการศิลปินลุ่มน้ำโขง นิทรรศการภาพถ่ายประเพณีแห่เทียนพรรษา และประติมากรรมเทียนนานาชาติ นิทรรศการแต้มสีที่ผาแต้ม นิทรรศการกลุ่มศิลปินศิลป์ศรีวนาไล เป็นต้น
ปัจจุบัน หอศิลป์ราชธานีศรีวนาไล เปิดให้บริการแก่ทุกท่านเพื่อเดินทางเข้าศึกษาดูงานทั้งแบบทั่วไปและหมู่คณะ ทั้งนี้เพื่อให้สถานที่ดังกล่าวแหล่งเรียนรู้ที่ บ่มเพาะต้นกล้าด้านศิลปะ จุดประกายแนวคิดระดับท้องถิ่นสู่การสร้างศิลปินระดับโลก และให้ได้รับการเผยแพร่สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานและสืบสานวัฒนธรรม มรดกของชาติไทยอันดีงามให้คงอยู่สืบไป
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติมหรือแจ้งความประสงค์ขอเข้าชมหอศิลป์ราชธานีศรีวนาไลได้ที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี หมายเลขโทรศัพท์ 065-651-6577 ในวันและเวลาราชการ
email ข่าวการศึกษา เยาวชน ศิลปวัฒนธรรม saowaporn@hotmail.com และ bat_mamsao@yahoo.com