อาศรมมิวสิก : กรุงเทพทวารวดีศรีอโยธยา
ต้องการผู้นำทั้งกายภาพและจิตวิญญาณ
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2564 เวลา 15.15-17.30 น. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ไปเยี่ยมชมการฝึกซ้อมของวงไทยซิมโฟนีออเคสตรา (Thai Symphony Orchestra) ที่มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เนื่องจากท่านไปถึงก่อนเวลาที่วงดนตรีนัดซ้อม (16.30 น.) จึงได้จัดให้เด็กๆ ที่เรียนดนตรีเล่นให้ชมไปก่อน เพื่อให้เห็นว่าศักยภาพความเป็นเลิศทางดนตรีของเด็กนั้น สามารถที่จะพัฒนาให้เป็นเลิศได้อย่างไร เนื่องจากรู้ว่าท่านจะมาในเวลาที่กระชั้นชิดก็ได้บอกกับเด็กๆ ได้แค่ 20 คน เพราะส่วนใหญ่เด็กเดินทางไปเที่ยวกับครอบครัวกันเกือบหมดแล้ว
เด็กๆ ได้เล่นเพลงคลาสสิกให้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ฟัง 2 เพลง เพลงของวิวาลดิ (Vivaldi) และเพลงของดโวชาค (Dvorak) จากนั้นก็ได้ถือโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้ซักถามความในใจเรื่องว่า จะนำพากรุงเทพฯ ไปข้างหน้าได้อย่างไร ทั้งกายภาพและจิตวิญญาณ โดยภาพรวมแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูดนตรีรุ่นใหม่ ต่างเชียร์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพราะอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่กว่าสภาพที่เป็นอยู่
โดยส่วนตัวแล้ว ใครก็ตามที่จะมาเป็นผู้นำกรุงเทพฯ ต้องเป็นนักพัฒนาทั้งทางกายภาพและเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ พัฒนาให้กรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ มีรสนิยม มีความสะอาด มีความสะดวก มีความน่าอยู่ เป็นเมืองที่มีอารย
ส
ถาปัตย์ เป็นเมืองอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีช่วยพัฒนาเมือง ผู้คนมีระเบียบมีวินัย เป็นเมืองที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติมีต้นไม้ ใครมีต้นไม้อยู่ในบริเวณบ้านหรือปลูกต้นไม้สามารถลดภาษีได้ มีวิถีชีวิตที่งดงามประกอบด้วยศิลปวัฒนธรรม มีเสียงดนตรี มีกิจกรรมกีฬา และมีพิพิธภัณฑ์เมือง เพื่อคนกรุงเทพฯเอง แล้วค่อยเผื่อแผ่ให้แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมวิถีชีวิตและมาสัมผัสความเป็นอยู่ของคนในสังคมเมืองได้
แต่สภาพที่เป็นจริงในปัจจุบันของกรุงเทพฯนั้น บ้านเมืองโกโรโกโสและโสโครก ดูสกปรกไร้ระเบียบไร้ทิศทาง อยู่อย่างเอาตัวให้รอด การศึกษาของเด็กก็น่าเห็นใจ เด็กเติบโตมาอย่างยถากรรม ศิลปวัฒนธรรมถูกทอดทิ้งอย่างอนาถ ไม่มีพื้นที่แสดงดนตรี ไม่มีเวทีแสดงงานศิลปะที่เป็นหน้าตาของประเทศ บนถนนมีแต่เครื่องกีดขวาง มีกายกรรมมอเตอร์ไซค์ขับสวนทาง มีคุณกรวยคุณตะแกรงเต็มถนน ให้ดูตัวอย่างได้ที่สนามบินดอนเมืองที่ใช้ต้อนรับแขก เป็นเมืองที่บอกถึงความล้าหลังและด้อยพัฒนา
ความจริงของกรุงเทพฯนั้น มีทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับเมืองใหญ่ทั่วโลก เพียงแต่กรุงเทพฯไม่มีคุณภาพ มีกายภาพที่ชำรุดทรุดโทรมและสกปรก มีจิตวิญญาณที่บอบช้ำ หาที่พึ่งทางกายทางใจกับใครก็ไม่ได้ เป็นสังคมที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเชื่อถือใครก็ไม่ได้ ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปต่อว่าอดีตที่บอบซ้ำและเจ็บปวด เพราะไม่สามารถจะทำให้อะไรดีขึ้น ก็ควรหันไปมองอนาคตที่สดใสว่า ควรจะทำให้น่าอยู่ได้อย่างไร
เอาเฉพาะงานดนตรีในระดับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีโครงสร้างของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว มีหน้าที่จัดการแสดงโดยให้นักดนตรีที่เป็นข้าราชการและเป็นพนักงาน (ลูกจ้าง) ชั่วโมงละ 80 บาท วันหนึ่งต้องทำงาน 6 ชั่วโมง เพื่อให้ได้เงิน 480 บาท จึงต้องแสดงดนตรีที่เป็นงา
นพิธีกรรมและให้ความบันเทิงเพื่อให้ได้ 20 วัน ก็จะได้เงิน 9,600 บาท ทั้งนี้ กรุงเทพฯมีศูนย์ฝึกอบรมสำหรับดนตรี กีฬา และศิลปะ อยู่ทั้ง 50 เขต ทำหน้าที่ดูแลโครงการต่างๆ จัดฝึกอบรมและดูแลงานวิชาการ ประกอบด้วย กลุ่มงานดุริยางค์ไทย เมื่อก่อนมีครูบุญยงค์-ครูบุญยัง เกตุคง ครูสุเชาว์-ครูเสรี หริมพานิช ครูชาตรี อบนวล ท่านเหล่านี้เคยเป็นนักดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงและทำงานประจำอยู่ที่วงดนตรีไทยของกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานครมีกลุ่มงานดุริยางค์สากล กลุ่มงานวงซิมโฟนีออเคสตรา มีข้าราชการ 7 คน ที่เหลือก็เป็นอาสาสมัครแบบลูกจ้างรายชั่วโมง ทำหน้าที่เล่นดนตรีอีก 60 คน สำคัญมากก็คือกรุงเทพมหานครมีสำนักการศึกษาทำหน้าที่ดูแลการศึกษาดนตรีสำหรับเด็กของโรงเรียน (ใน กทม. 437 โรงเรียน) เคยมีข่าวว่า สำนักงานนี้ซื้อเครื่องดนตรีแจกให้แก่โรงเรียนในเขตต่างๆ เป็นเงิน 1,400 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่น่าตื้นตันจนจุกคอ
แม้กรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองใหญ่ระดับมหานคร แต่กรุงเทพฯก็ไม่มีพื้นที่แสดงดนตรีดีๆ ของเมืองแต่อย่างใด ผู้นำกรุงเทพฯ ในยุคใหม่จะต้องสร้างพื้นที่เพื่อแสดงดนตรี แสดงละคร ให้ทันสมัยทัดเทียมนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว ปารีส เบอร์ลิน เพื่อจะสร้างเมืองให้มีรสนิยม มีคุณภาพชีวิต และสร้างรายได้ให้แก่เมือง
ในอดีตเมื่อเอกชนประกาศว่าจะสร้างศูนย์การค้าใหญ่บนพื้นที่ในกรุงเทพฯ ก็จะมีโครงการในกระดาษและโฆษณาว่าจะมีพื้นที่ด้านศิลปวัฒนธรรม มีหอแสดงดนตรี มีโรงโอเปร่า อาทิ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โครงการวัน แบงค็อก (One Bangkok) โครงการที่ข้างๆ ตึกสินธร ที่สามแยกถนนวิทยุ ที่หัวมุมสวนลุมฯ ขึ้นป้ายใหญ่ว่ามีหอแสดงดนตรีคลาสสิก ครั้นพอลงมือสร้างจริงๆ ก็ไม่มีหอแสดงดนตรีตามที่โฆษณาไว้ ด้วยมีเหตุผลอีกมากมาย สรุปเอาว่าโม้ว่าจะสร้าง ขายรสนิยม ขายเสน่ห์ เมื่อสร้างแล้วหอแสดงดนตรีก็ไม่มีจริง แสดงว่าเรื่องหอแสดงดนตรี โรงโอเปร่า เป็นอุปกรณ์ของความเจริญ นำมาใช้เป็นสื่อโฆษณาได้
ผมจะขอเสนอให้ “ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่” ทุบเวทีลีลาศสวนลุมฯ สร้างเป็นหอแสดงดนตรีบนที่ดินเดิมให้เป็นหอแสดงอย่างหรู 1,200 ที่นั่ง และ 400 ที่นั่ง โดยมีคุณภาพที่วงดนตรีระดับจากนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว ปารีส เบอร์ลิน สามารถมาแสดงได้ นอกจากนี้ ก็ควรจะสร้างเวทีแสดงกลางแจ้ง (Amphitheatre) ไว้ด้วย
ส่วนที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ เสาชิงช้า ให้ย้ายการบริหารและคนของกรุงเทพมหานครไปอยู่ที่ดินแดง ซึ่งเป็นสำนักงานใหม่ให้หมด ส่วนพื้นที่เก่าที่เสาชิงช้าก็ให้พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองกรุงเทพฯ เพื่อเก็บรักษาและบันทึกวิถีชีวิตของเมือง เพื่อคนกรุงเทพฯ รองรับนักท่องเที่ยวเดินชมเมือง ได้ชมวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในพิพิธภัณฑ์ได้
สำหรับเด็กๆ ของโรงเรียนกรุงเทพมหานคร เด็กทุกคนควรได้เรียนดนตรีและดนตรีควรเป็นหุ้นส่วนชีวิตของเด็กทุกคน เครื่องดนตรีที่สำนักการศึกษาเคยจัดซื้อเอาไว้ 1,400 ล้าน อาจกองอยู่มุมใดมุมหนึ่งในโรงเรียน จำเป็นต้องพัฒนาครูดนตรีเพื่อใช้เครื่องดนตรีหรือซากเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์สูงสุด ระยะ 4 ปีของผู้นำ กทม. ควรสร้างครูดนตรีที่มีความสามารถให้ได้ปีละ 100 คน เวลา 4 ปี ก็จะได้ครูดนตรีที่มีคุณภาพ 400 คน ครูหนึ่งคนออกไปสร้างเด็กที่มีคุณภาพ 10 คน ครูดนตรีคุณภาพ 400 คน สามารถสร้างเด็กที่มีคุณภาพ 4,000 คน ให้แสดงฝีมืออวดชาวเมืองได้ชื่นชม
ในวันนั้นเด็กๆ จำนวน 20 คน ที่มีคุณภาพ ได้เล่นดนตรี 2 เพลง ให้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ฟัง เมื่อฟังเสร็จท่านก็ได้พูดกับเด็กๆ ด้วยน้ำตาคลอว่า “ดีใจมากที่เห็นเด็กๆ เล่นดนตรีเก่ง ทำให้คิดถึงลูกผมที่หูหนวก อยากให้ลูกได้เล่นดนตรีด้วย” ก็ตอบได้เลยว่า ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คนนี้ เป็นผู้ที่มีความรู้สึก มีรสนิยมทางด้านศิลปะดนตรีสูง เป็นมนุษย์ที่สามารถสัมผัสได้จริง และเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ
สําหรับงานศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ อาทิ วงปี่พาทย์ มโหรี ลิเก งิ้ว ลำตัด หุ่นกระบอก โขน ละครชาตรี ซึ่งไม่มีพื้นที่แสดงสำหรับประชาชนหรืออวดศิลปวัฒนธรรมขายนักท่องเที่ยว กรุงเทพมหานครควรจะใช้วัดที่มีเมรุเผาศพ ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีวัดที่มีเมรุเผาศพ 300 กว่าวัด มีศพเผาในกรุงเทพฯวันละ 100 ศพ ทุกศพที่เผาเป็นผีที่ทุกวิญญาณกลายเป็นสัมภเวสี ไม่ได้ไปผุดไปเกิด เร่ร่อนวนเวียนอยู่เพราะไม่มีดนตรีปี่พาทย์ประโคมส่งดวงวิญญาณขึ้นสู่สวรรค์ จึงคอยหลอกหลอนวนเวียนอยู่ในกรุงเทพฯ แถมทำให้ศิลปินดนตรีปี่พาทย์ มโหรี ลิเก งิ้ว ลำตัด หุ่นกระบอก โขน ละครชาตรี ไม่มีพื้นที่แสดง ตกงาน เลิกอาชีพไป
ข้อเสนอก็คือ ให้กรุงเทพมหานครเจรจาใช้วัดที่มีเมรุเผาศพ วัดที่มีพื้นที่จอดรถ มีรถไฟฟ้า รถใต้ดินผ่าน เพื่อจัดพิธีกรรมงานศพ ทุกศพที่เผาในวัดนี้ มีดนตรีปี่พาทย์ มโหรี ลิเก งิ้ว ลำตัด หุ่นกระบอก หรือโขน แสดงเป็นประจำ (เวลา 16.00-17.30 น.) เท่ากับรักษาศิลปวัฒนธรรมประจำชาติให้มีอยู่ในวิถีชีวิตจริง
นอกจากนี้ ศิลปินประจำชาติทั้งหลายก็จะมีงานทำ มีรายได้ มีฝีมือ และมีอาชีพ สามารถสร้างงานส่งต่อให้แก่ลูกหลานได้ ทั้งนี้ ต้องมีผู้จัดการอย่างมีคุณภาพเป็นมืออาชีพ ค่าใช้จ่ายในการแสดงมหรสพ จ่ายโดยกรุงเทพมหานคร จ่ายวันละศพ (20,000 บาท) ได้ปีละ 365 ศพ ใช้เงิน 7.3 ล้านบาท จำนวน 365 วิญญาณก็จะได้กลับขึ้นไปสู่สวรรค์ ซึ่งจะลดจำนวนเปรต อสุรกาย สัมภเวสี ออกจากพื้นที่ในกรุงเทพฯไป
การได้พบกับผู้สมัครอย่าง ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็อดที่จะรำพึงรำพันไม่ได้ เพราะผู้นำที่มีส่วนใหญ่ ดูไม่ค่อยมีอนาคต เพราะขาดวิสัยทัศน์ (No Vision) ขาดการลงมือทำงานจริง (No Action) ขาดการตัดสินใจ (No Decision) มีแต่พวก “ขอรับฉัน” จึงทำให้เมืองตกอยู่ในสภาพซกมกเต็มที
อย่าลืมว่า กรุงเทพมหานครก็เป็นเมืองที่มีทุกอย่างเหมือนกับเมืองสำคัญของโลกทั้งหลาย เพียงแต่มีคุณภาพต่ำ เป็นเมืองที่ไม่มีรสนิยม ไม่มีเสน่ห์ จนกลายเป็นเมืองอนาถา ผู้คนอยู่กันอย่างอนาถ แย่งชิง เอารัดเอาเปรียบ และที่สำคัญก็คือ ได้ปลูกฝังวิถีชีวิตที่น่าอนาถ ส่งต่อให้แก่ลูกหลานด้วยวิธีการซึมซาบการแย่งชิง การเอารัดเอาเปรียบ เอาตัวรอด สืบทอดต่อไป โดยไม่ได้เรียนรู้ว่า สังคมที่ดี การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นอย่างไร
ใครก็ไม่รู้พูดเอาไว้ “สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องช่วยกันสร้าง” แม้ผู้นำแค่คนเดียวจะทำไม่ได้ แต่วันนี้ผู้ตามทุกคนก็พร้อมที่จะทำตาม หากมีผู้นำที่ดี น่าเชื่อถือ ผู้นำนั้นต้องนำทั้งกายภาพและจิตวิญญาณ
สุกรี เจริญสุข