ทวี สุรฤทธิกุล
“อำนาจ” คือความสามารถที่จะทำให้คนอื่นเชื่อฟังและปฏิบัติตาม จนถึงทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการต่าง ๆ
ทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจในตำราวิชารัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุด น่าจะเป็นทฤษฎีของ ฮาโรลด์ ลาสเวล (Harold Lasswell ;1902 – 1976) ที่กล่าวว่า “อำนาจคือการศึกษาเกี่ยวกับ ใครได้อำนาจอะไร เมื่อใด และอย่างไร : Power is the study of Who gets What, When and How.” โดยอำนาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่หรืออำนาจตามกฎหมาย กับอำนาจบารมีหรืออำนาจที่ได้มาเพราะความสามารถและการยอมรับ ทั้งนี้นอกจากจะศึกษาว่าได้อำนาจมาอย่างไรแล้ว ยังมีการศึกษาอีกด้วยว่าจะรักษาอำนาจนั้นให้คงอยู่ได้อย่างไร รวมถึงวิธีการในการเพิ่มพูนอำนาจหรือขยายอาณาเขตของอำนาจให้แผ่ขยายออกไปนั้นด้วย
ทั้งนี้ในการศึกษาอำนาจของผู้นำทางการเมือง มักจะใช้วิธีการศึกษาในแนว “ประวัติชีวิต” หรือสืบสาวราวเรื่องความเป็นมาของผู้นำคนนั้นตั้งแต่เด็กจนขึ้นมาครองอำนาจ ตั้งแต่ บรรพบุรุษ ครอบครัว การศึกษา กลุ่มเพื่อน จนถึงผลงานและความสำเร็จต่าง ๆ ซึ่งก็พบว่าผู้นำต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ใน ๒ สภาพ คือ ผู้นำตามสถานภาพ ที่มีอำนาจเพราะเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริม เป็นต้นว่า ครอบครัวผลักดัน หรือผลักดันตนเอง รวมถึงเพื่อนร่วมงานและลูกน้องผลักดันนั้นด้วย อีกแบบหนึ่งคือ ผู้นำตามสถานการณ์ ที่ได้อำนาจมาเพราะมีสถานการณ์ต่าง ๆ ส่งเสริม เช่น เกิดวิกฤติ มีสงคราม หรือการแข่งขัน (การเลือกตั้งก็คือการแข่งขันอย่างหนึ่ง) อย่างที่เรียกว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ”
อย่างไรก็ตามก็มีการพบว่า อำนาจนั้นเป็นดาบสองคม คือใช้ในทางที่ดีก็ได้ ในทางที่ไม่ดีก็ได้ รวมถึงทราบว่าอำนาจนั้นมีลักษณะพิเศษคล้าย “ยาเสพติด” ทั้งยังเป็นยาเสพติดชนิดที่ร้ายแรงมาก ๆ เพราะทำให้ผู้มีอำนาจเกิดความบ้าคลั่ง และใช้อำนาจในทางทำลายล้างแก่ผู้คนจำนวนในมหาศาล ซึ่งก็คือประชาชนที่อยู่ใต้การปกครองของผู้มีอำนาจคนนั้นนั่นเอง จึงมีการศึกษาที่จะควบคุมอำนาจและจัดการการใช้อำนาจให้อยู่ในความพอเหมาะพอดี รวมถึงวิธีการที่จัดการกับพวกที่ “บ้าอำนาจ” นั้นอย่างไรอีกด้วย
ในทางการเมืองไทย ผู้เขียนเคยศึกษาประวัติชีวิตของผู้นำทางการเมืองหลายคน โดยศึกษาเปรียบเทียบผู้นำ 2 ประเภท คือ ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง กับผู้นำที่มาจากการรัฐประหาร พบว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งมักจะเป็นผู้นำที่ต้องใช้ความสามารถของตนเองเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การสร้างตัวตนให้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับ จึงอาจจะเรียกได้ว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งนั้นเป็น “ผู้นำเชิงบารมี” เป็นส่วนมาก ส่วนผู้นำที่มาจากการรัฐประหารจะได้อำนาจมาจากตำแหน่งหน้าที่การงาน คือเติบโตมาในตำแหน่ราชการคือทหารนั้นมาโดยลำดับและเมื่อถึงสถานการณ์ที่เหมาะสม ผู้นำทหารคนนั้นก็ถูกผลักดันจากลูกน้องและบริวาร รวมทั้งความทะเยอทะยานส่วนตัวก่อการรัฐประหาร พร้อมกับสร้างกฎระเบียบต่าง ๆ ของคณะรัฐประหารปกป้องคุ้มครองตนเองและพรรคพวก จึงเรียกได้ว่าเป็น “ผู้นำเชิงกฎหมาย” เท่านั้น
ผู้เขียนเติบโตมาในยุค “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” หลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 แม้ว่าใน พ.ศ. 2518 ที่มีการเลือกตั้งครั้งแรก ผู้เขียนยังมีอายุไม่ถึงกำหนดที่จะไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งได้ แต่ก็รับรู้ได้ถึงความคึกคักทางการเมืองในยุคนั้น เริ่มจากมีการจัดตั้งพรรคการเมืองจำนวนมากลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยมีข้อสังเกตว่าพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่จะออกไปในแนวสังคมนิยมเสียส่วนมาก แต่ก็เป็นพรรคขนาดกลางลงไปถึงขนาดเล็ก ๆ เพราะส่งผู้สมัครไม่มาก ส่วนพรรคอีกแบบหนึ่งผู้เขียนเรียกว่า “พรรคเจ้าพ่อท้องถิ่น” เพราะหัวหอกในการตั้งพรรคที่เป็นเจ้าของพรรคจริง ๆ จะอยู่ในท้องถิ่น แต่มาขอให้ผู้ใหญ่หรือผู้มีชื่อเสียงในเมืองหลวงขึ้นมาเป็นหัว และพรรคแบบนี้นี่เองที่สามารถชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.เข้ามาจำนวนมาก เช่น พรรคชาติไทย พรรคธรรมสังคม และพรรคชาติสังคม เป็นต้น
การขึ้นมาของเจ้าพ่อนักการเมืองในท้องถิ่นในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2518 นี่เอง ที่เป็นจุดกำเนิดของการแสวงหาอำนาจของนักการเมืองฝ่ายพลเรือน รวมถึงที่เป็นสาเหตุที่มาของการเมืองไทยในระบอบ “ธนาธิปไตย” ที่ใช้เงินเป็นใหญ่ เนื่องจากนักการเมืองจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจกองทัพหรือกำลังทหารสนับสนุน จึงต้องใช้ “อำนาจเงิน” ในการรักษาความมั่นคงให้กับตนเอง และส่วนหนึ่งก็ใช้ “ปรนเปรอ” ทหารและข้าราชการให้ “เสพติดเงินตรา” อันเป็นฐานอำนาจที่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งทำได้ง่ายที่สุด ทั้งนี้ก็ด้วยการผ่านกลไกของระบบราชการ กฎหมาย และความร่วมมือของข้าราชการทั้งหลายนั่นเอง
ปรากฏการณ์ “เงินบำเรอ” เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมาส่งผลในการกระบวนการทางการเมืองในช่วงตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา เพราะผู้นำทหารในยุคนั้นจำเป็นต้องเอานักการเมืองมาเป็นฐานค้ำจุนอำนาจของตน โดยทหารก็คงรู้พิษสงของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ที่ทหารให้บรรดานิติบริกรร่างขึ้น ก็ไม่ให้มีระบบพรรคการเมือง ซึ่งเข้าใจได้ว่าจะเป็นการ “ตัดขา” หรือตัดกำลังการเกาะกลุ่มก้อนกันหากินของนักการเมือง ดังนั้นเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ทหารก็ “เคาะกะลา” เรียกนักการเมืองเหล่านั้นมาช่วยยกมือให้ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับจัดแบ่งกระทรวงทบวงกรมให้แก่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ให้นักเลือกตั้งเหล่านั้นมามีอิทธิพลเหนือทหาร โดยเฉพาะที่ได้ให้มีสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจพอ ๆ กันกับ ส.ส. มาเป็นฐานค้ำจุนด้วยส่วนหนึ่ง แต่นี่ก็ได้กลายเป็น “หอกข้างแคร่” ของทหารในภายหลัง เพราะการที่ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ตั้งอทำงานหรือมีบทบาทร่วมกันในหลาย ๆ เรื่อง ตั้งแต่การเลือกนายกฯ การอภิปรายไว้วางใจรัฐบาล และการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญ ๆ ทำให้บรรดา ส.ว.ที่ส่วนใหญ่ก็คือทหารกับข้าราชการ ถูกดึงเข้าไปร่วม “ดื่มกิน” กับ ส.ส. และคุ้นเคยกับระบบ “ไม่เข้าห่อไม่เข้าพกก็ยกมือไม่เป้น” คือ ส.ว.ได้ไปร่วมเสวยสุขกับอามิสสินจ้างเพื่อการยกมือต่าง ๆ ที่กระทำผ่านระบบรัฐสภานั้นด้วย
แต่ที่ส่งผลร้ายต่อผู้มีอำนาจในยุคนั้นเป็นอย่างมากก็คือ การแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายในหมู่สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกันกับการแบ่งเป็นกลุ่มเป็นมุ้งในพวก ส.ส. นั่นก็คือมี ส.ว.หรือทหารส่วนหนึ่งที่ยังสนับสนุนนายกรัฐมนตรี กับ ส.ว.อีกส่วนหนึ่งที่กำลังมองหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมทั้งที่ทหารเองก็มีการแบ่งกันเป็นรุ่นเป็นเหล่า และยังมีกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า “ยังเติร์ก” รวมถึง “ทหารประชาธิปไตย” ที่กำลังเติบโตขึ้นมามีอิทธิพลในวุฒิสภา และต่อมาได้เป็นกำลังสนับสนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ทำให้ทหารเกิดการ “เมาอำนาจทางการเมือง” มากขึ้นเรื่อย ๆ และถอนตัวไม่หลุดจากระบบการเมืองไทยมาจนถึงปัจจุบัน
การเมืองเรื่อง “ทหารเมาอำนาจ” นี้ยังมีต่อ แต่ที่น่าสนใจก็คือแล้วมันจะจบไหม และจบอย่างไร