ทวี สุรฤทธิกุล
อำนาจเหมือนระเบิด คือจะจุดให้ระเบิดได้ต้องมี “ชนวน” นั่นคือ “ปมปรารถนา” ในตัวคน ๆ นั้น
อีกทฤษฎีหนึ่งเกี่ยวกับอำนาจและมีการการนำมาศึกษาเกี่ยวกับ “ความสำเร็จ” ของบุคคลต่าง ๆ มากที่สุด น่าจะเป็นทฤษฎี “ปมด้อย – ปมเด่น” ของ อัลเฟรด แอดเลอร์ (1870 – 1937) นายแพทย์ชาวออสเตรีย ที่กล่าวว่า “บุคคลโดยพื้นฐานแล้วถูกจูงใจโดยปมด้อย บุคคลบางคนมีความรู้สึกเป็นปมด้อย เมื่อมีร่างกายพิการและมีความต้องการที่จะทำการชดเชยปมด้อยเหล่านั้น ความรู้สึกที่ตนเองมีปมด้อยทำให้เกิดแรงขับที่เรียกว่า ปมเด่น” ต่อมาได้มีการศึกษาขยายความเรื่อง “ความพิการ” นั้นออกไปอีกมาก โดยเฉพาะที่มีผุ้นำมาศึกษาในทางการเมือง ถึงขั้นที่บอกว่า “ความพิการทางจิตใจ” ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปมเด่นและปมด้อยนั้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคม การอบรมเลี้ยงดู การศึกษา และกลุ่มสังคมรายรอบ
ผู้เขียนขอเรียกรวม ๆ ว่า “ปมปรารถนา” เพราะว่าทั้งปมเด่นและปมด้อยก็คือ “ความปรารถนา” ของคน ๆ เดียวกัน เพียงแต่แสดงออกคนละด้าน ในขณะที่ปมเด่นจะโชว์ความโดดเด่นที่ตนเองภาคภูมิใจให้คนอื่น ๆ ได้เห็น แต่ปมด้อยจะซ่อนแอบเอาไว้ไม่ให้ใครเห็นด้วยความอับอายและเจ็บปวด
สมัยที่ผู้เขียนอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชุด พ.ศ. 2549 – 2551 มีนักการเมืองคนหนึ่งที่รู้จักกับผู้เขียนมาตั้งแต่ที่ผู้เขียนทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ระหว่าง พ.ศ. 2522 – 2532 มาปรึกษาเรื่องการเรียนปริญญาโทในมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนทำงานอยู่ และเมื่อเขามาสมัครเรียนแล้วก็ได้ให้คำปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์อยู่ระยะหนึ่ง วิทยานิพนธ์ของเขาทำในเรื่องนโยบายการบริหารราชการจังหวัดแบบบูรณาการ (ที่คนทั่วไปเรียกง่ายง่า “ผู้ว่าฯซีอีโอ” แต่ชาวบ้านเรียกตามโฆษณาทางโทรทัศน์ว่า “ผู้ว่าฯลีโอ”) ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทยที่มี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค
เขาบอกว่าตัวเขาเองมีความสนิทสนมกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้พอสมควร ตอนนั้นเป็นสมัยรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก่อนการรัฐประหารของ รสช.ใน พ.ศ. 2534 ซึ่งเขาได้ทำงานการเมืองเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงใหญ่กระทรวงหนึ่ง วันหนึ่งหน้าห้องก็มาบอกว่ามีคนมาขอพบ มี ส.ส.ที่เขารู้จักแนะนำมาอีกต่อหนึ่ง เขาจึงอนุญาต ผู้ที่มาพบเขาก็คือชายผิวขาว อายุราว 40 ปี หิ้วกระเป๋าเจมส์บอนด์สีดำมาด้วย แนะนำตัวว่าชื่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีญาติและเพื่อนชื่อโน้นชื่อนี้ กำลังจะขยายธุรกิจผ้าไหมของครอบครัว แล้วก็เปิดกระเป๋าเจมส์บอนด์ ข้างในมีเนกไทราว 20 เส้น และสมุดแคตตาล็อกผ้าไหมอีก 3 เล่ม ชายผิวขาวคนนั้นหยิบเนกไทออกมา 1 เส้น แล้วบอกว่าฝากไว้ให้ใช้ ถ้าสนใจจะสั่งซื้อก็จะขายให้ในราคาพิเศษ
การสนทนาจบลงในเวลาไม่นาน แต่นักการเมืองคนนี้ก็สังเกตเห็นว่าเสื้อผ้าของชายผิวขาวแม้จะดูสะอาดเรียบร้อย แต่ก็ค่อนข้างเก่า เสื้อสูทสีเข้มตัวนอกก็สีซีด ๆ แล้วพอดูที่คอเสื้อเชิร์ตที่มีปกสูทคลุมอยู่ก็เห็นว่า มีผ้าเช็ดหน้าสีอ่อน ๆ ซ้อนรอง และเหน็บไว้ด้วยคลิปหนีบกระดาษ 2 อัน เดาว่าเอาไว้ซับเหงื่อรอบคอหรือไม่ก็เสื้อนั้นเก่ามากจนคอปกเปื่อยชำรุด จึงต้องเอาผ้าเช็ดหน้ามาเหน็บปกปิดไว้
ประเด็นที่นักการเมืองผู้นี้อธิบายกับผู้เขียน คือชื่นชมใน “การต่อสู้ดิ้นรน” ของชายผิวขาวคนนั้น ซึ่งต่อมาได้ไป “เซ้ง” พรรคพลังธรรมใน พ.ศ.2537 ได้เป็นรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีใน 3 รัฐบาล ก่อนที่จะมาตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคไทยรักไทย และชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลใน พ.ศ. 2544 โดยมีชายผิวขาวคนนั้นในวัย 50 ต้น ๆ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนักการเมืองที่ผู้นี้วิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นผลของ “ปมด้อย” ในตัวของชายที่ชื่อทักษิณนี้ เพราะหลาย ๆ คนที่รู้จักทักษิณก็พูดในทำนองเดียวกันว่า เขามักจะบ่นถึงการไปขอความช่วยเหลือหรือ “ขายสินค้า” ให้กับคนนั้นคนนี้ แล้วก็ถูกผู้คนเหล่านั้นดูหมิ่นดูแคลน ในขณะเดียวกันถ้าใครให้ความช่วยเหลือหรืออุดหนุนสินค้าของเขา เขาก็จะสรรเสริญและรำลึกถึงบุญคุณในความอนุเคราะห์นั้น
ที่ผู้เขียนพูดถึง “ชายผิวขาวคอเสื้อเปื่อย” มายืดยาวนี้ ก็เพราะนึกถึงทฤษฎีของแอดเลอร์เกี่ยวกับแรงขับที่มาจาก “ปมด้อย” ที่ได้ทำให้หลาย ๆ คนประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงในเรื่องต่าง ๆ ที่แอดเลอร์กล่าวถึงก็เช่น บีโธเฟ่น คีตกวีเพลงชื่อก้องที่หูหนวก แต่ก็สามารถสร้างสรรค์เพลงคลาสสิกเป็นอมตะได้เป็นร้อย ๆ เพลง รวมถึงนักกีฬาชื่อดังบางคนที่ร่างกายพิการแต่ก็ฝ่าฟันพยายามจนเป็นแชมเปียนได้ในที่สุด
มีคนที่เขียนประวัติชีวิตของคุณทักษิณไว้อย่างพิสดารมากมาย แต่สาระส่วนหนึ่งก็ดูจะคล้าย ๆ กัน (ว่ากันว่าเป็นวิธี “ปั้น” ให้คุณทักษิณเป็นที่รู้จัก โดยการวางแผนและดำเนินการของบริษัทด้านการสร้างสื่อที่มีประสิทธิภาพ) คือบอกว่าคุณทักษิณนี้เป็น “นักต่อสู้” เป็นความหวังของประเทศไทยในยุคใหม่ เป็น “อัศวินคลื่นลูกที่สาม – ตาดูดาวเท้าติดดิน” รวมถึงที่บอกว่าเป็น “พระเจ้า” หรือเทพบางองค์ที่มาเกิดบนโลกมนุษย์
อย่างไรก็ตามถ้าเรามามองดู “พฤติกรรม” ของคุณทักษิณในเวลานี้ ที่พยายามสร้างข่าวหรือปรากฏตัวให้เป็นข่าว หลายคนก็เชื่อกันว่าเป็นการต่อสู้ดิ้นรนของคุณทักษิณที่อยากจะกลับมามีอำนาจในทางการเมืองไทยอีกครั้ง บ้างก็ว่าคราวนี้คุณทักษิณ “ทุ่มสุดตัว” ถึงขั้นเอาลูกสาวมาขายและให้ภรรยามาร่วมสู้ศึก แต่ใครเล่าจะรู้จริงถึง “ปมปรารถนา” ที่อยู่ในจิตใจของอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ โดยเฉพาะที่คนบางกลุ่มมองว่าเขาอยากจะกลับมามีอำนาจเพื่อฟื้นฟูชื่อเสียงของเขาคืนมา หรือเพื่อมา “เอาคืน” บางสิ่งบางอย่างที่เขาถูกยึดไป ซึ่งคนที่รู้จักอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้เป็นอย่างดีพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทักษิณถ้ารักใครหรือใครที่มีบุญคุณกับเขา เขาจะไม่ลืมบุญคุณเป็นอันขาด และจะตอบแทนให้อย่างเต็มที่ ตรงกันข้ามถ้าเขาเกลียดใครหรือใครที่ทำร้ายทำไม่ดีกับเขา เขาก็จะจดจำเหมือนว่าจดไว้บนหนังสุนัข และพร้อมที่จะตอบแทนให้อย่างสาสมเช่นเดียวกัน”
เมื่อสัปดาห์ก่อนผู้เขียนเล่าถึงทหารที่ “เมาอำนาจ” ทิ้งค้างไว้ แล้วมาสลับฉากด้วยพลเรือนที่ “บ้าอำนาจ” คนหนึ่งในสัปดาห์นี้ โดยวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีที่แตกต่างกัน คือทหารนั้นเป็นไปตามทฤษฎีแหล่งที่มาของอำนาจของฮาโรลด์ ลาสเวลล์ ว่าทหารมีอำนาจด้วยตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด แล้วเมื่อต้องขึ้นมามีอำนาจก็จำเป็นต้องสร้างเกราะให้กับตนเองด้วยกฎหมายนั้นอีกเช่นกัน แต่ในกรณีของนักการเมืองพลเรือนนั้นไม่ได้มีอำนาจที่มีกฎหมายหรือตำแหน่งทางราชการเกื้อหนุน จึงต้องใช้ “แรงขับ” ซึ่งก็คือ “ปมปรารถนา” นั้นมาสร้างอำนาจขึ้น และพยายามที่จะไม่ให้ปมปรารถนานั้นวูบดับ จึงจำต้อง “พัดกระพือ” ให้ผู้คนได้รับรู้อยู่เสมอ
ทหารเมื่อพ้นตำแหน่งก็จะค่อย ๆ หมดอำนาจไป แต่นักการเมืองที่ไม่รู้จักจมนั้นยังดิ้นรนกลับมาอย่างน่ากลัว