ทุกฝ่ายเห็นชอบไม่เพิ่มงบฯ-ถ่ายโอนบุคลากรสกอ.ขึ้นบ้านใหม่
วันที่ 23 เม.ย.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างระบบราชการ ศธ. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา โดยที่ผ่านมา ตนได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม, ร่างพ.ร.บ.บริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา และ ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว แต่ทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งเรื่องกลับมาให้ ศธ. ขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย อาทิ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ของ ศธ., สำนักงาน ก.พ.ร., สำนักงบประมาณ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา โดยมีหลักการว่าการตั้งกระทรวงใหม่ จะไม่มีการเพิ่มงบฯ ไม่เพิ่มบุคลากร ขณะเดียวกันยังพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้าง ศธ. เพราะการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา จะมีผลให้ ศธ.เล็กลง ดังนั้น จึงต้องมีมาตราที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้าง ศธ. ที่ต้องตัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกไปจาก ศธ. ภารกิจใดของ สกอ.ที่เกี่ยวข้องกับ ศธ.และบรรจุไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับเดิม ก็ต้องปรับไปเป็นภารกิจของกระทรวงการอุดมศึกษา ส่วนตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) นั้นถ้ามีกระทรวงอุดมศึกษา ก็ต้องปรับไปเป็นตำแหน่ง “ปลัดกระทรวงอุดมศึกษา” ตรงนี้ต้องกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา คนแรก คือเลขาธิการกกอ. คนปัจจุบัน
“เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีคนต่อต้าน เพราะไม่มีการเพิ่มหรือลดบุคลากร โดยบุคลากรที่ทำงานอยู่ใน สกอ. ปัจจุบัน ถ้ามีกระทรวงการอุดมศึกษา เกิดขึ้น ก็จะต้องถ่ายโอนไปอยู่กับกระทรวงใหม่ เพราะถือว่าทำงานด้านนี้อยู่แล้ว”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ด้าน นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และคณะกรรมาธิการการศึกษา ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วว่าจะต้องจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยและอยากให้กระทรวงใหม่มีความคล่องตัว มีความอิสระ และต้องไม่ไปควบคุมมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม การขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตามขั้นตอน เพราะในคณะทำงานเตรียมจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา มีหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้ร่วมเป็นกรรมการอยู่แล้ว
“กระทรวงการอุดมศึกษา จะ รมว.อุดมศึกษา เพียงคนเดียว มีสำนักงานปลัดที่มีสถานะเป็นกรม มีปลัดกระทรวง ระดับบ 11 เพียงคนเดียว ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ มีสถานะเป็นสำนัก อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปลัด ส่วนมหาวิทยาลัย ที่ยังเป็นส่วนราชการ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยรัฐอีกส่วนหนึ่ง โดยหลักการมีสถานะเทียบเท่ากรมอยู่แล้ว ส่วนมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ ซึ่งมีกฎหมายเป็นของตัวเองก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงสร้างภายในส่วนใหญ่ของ สกอ. ไม่ได้มีการปรับ เพียงแต่อาจเปลี่ยนชื่อ และปรับพันธกิจให้สอดคล้องกับงานของกระทรวงการอุดมศึกษา”
นพ.อุดม กล่าวและว่า ในส่วนของสถาบันการอาชีวศึกษา ที่เปิดสอนระดับอุดมศึกษา ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษา ที่อยู่ในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เช่นเดิม แต่ต้องยึดหลักการการดำเนินการตามกรอบของกระทรวงการอุดมศึกษาด้วย
อย่างไรก็ตาม จากนี้จะนำสรุปที่ได้เสนอสำนักงาน กพ.ร.ใหญ่ ให้ความเห็น ซึ่งนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. รับจะเร่งดำเนินการคาดว่าไม่เกิน 2สัปดาห์ จากนั้นจะเข้า ครม. หากเห็นชอบจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา สชน. รวมแล้วคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 7 เดือนน่าจะเรียบร้อย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ