การเมือง
“อุปทูตสหรัฐ”ยันส่งวัคซีนช่วยไทย ไม่มีตัวกลางหรือเงื่อนไข
วันพฤหัสบดี ที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 19.44 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2564 นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย มีสารเกี่ยวกับการบริจาควัคซีนของสหรัฐว่า ตามที่สถานทูตสหรัฐ ออกประกาศว่าเรามีความภูมิใจที่จะบริจาควัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้กับประเทศไทย โดยไม่มีเงื่อนไข ตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อช่วยพันธมิตรของเราต่อสู้กับโควิด-19 ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ของเราสองประเทศ และเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงพันธไมตรีอันยาวนานของเรา
“สหรัฐภูมิใจที่ได้ช่วยไทยต่อสู้โรคระบาดไวรัส ผมขอชื่นชมความพยายามของบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลและอาสาสมัครสาธารณสุขของไทยที่ทำงานเพื่อควบคุมการระบาด” อุปทูตฮีธ ระบุและกล่าวว่า
ผมขอเน้นย้ำว่า ข้อตกลงดังกล่าว เป็นข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ ไม่มีคนกลางในการเจรจา ทำเนียบขาว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และสถานทูตทำงานโดยตรงกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุขไทยในการบริจาควัคซีนครั้งนี้ เรากำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ผมหวังว่า จะมีข่าวดีแจ้งให้กับทุกท่านทราบในเร็ววันนี้ ประชาชนอเมริกันจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวไทยตลอดไป
สื่อจีนตีข่าวพิษศก.จากโควิดระลอก 3 อาจทำเด็กไทยหลุดระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น
ขณะที่สำนักข่าว CGTN ในเครือสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีน เสนอข่าว COVID-19: Thailand’s school dropout rate soars เล่าเรื่องชะตากรรมอันน่ารันทดของ Phumeakkawut เด็กชายวัย 10 ขวบ ที่ใช้ชีวิตกับแม่อยู่ข้างถนนในฐานะคนไร้บ้าน และไม่รู้อนาคตว่าจะได้กลับไปเรียนหนังสืออีกหรือไม่ ซึ่งก่อนที่โลกจะเผชิญสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แม่ของเขาเคยมีรายได้ดีจากอาชีพพนักงานนวด กระทั่งวิกฤติโรคระบาดและการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ก็ไม่มีงานให้ทำอีกต่อไป
Waraporn Chanchiaw ผู้เป็นแม่ของ Phumeakkawut เล่าว่า ตนได้รับผลกระทบอย่างมาก วันนี้ตนสูญเสียมากมาย แม้กระทั่งหลังคาที่ซุกหัวนอนก็ยังไม่มี เมื่อมองไปยังลูกชาย ตนก็แทบใจสลายจากปัญหาทางการเงิน มันไม่ใช่แค่ค่าเล่าเรียน แต่ยังรวมถึงค่าเครื่องแบบ หนังสือเรียนและค่าเดินทาง อนึ่ง เรื่องทำนองเดียวกันกับสองแม่-ลูกนี้ ยังพบได้ทั่วไปในประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยว จากอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น
ข้อมูลจากสมาคมโรงแรมไทย ระบุว่า ร้อยละ 80 ของธุรกิจภาคการท่องเที่ยวยังคงปิดตัว สำหรับคนทำงานในภาคส่วนนี้ โลกของพวกเขาหมุนเคว้งและโรงเรียนก็เริ่มห่างหายไปจากความสำคัญ ตัวเลขนั้นยากจะคาดเดา แต่สัญญาณเริ่มต้นไม่สนับสนุน โรงเรียนในกรุงเทพฯ ยังปิดทำการมาเกือบ 4 เดือน เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในระลอก 3 ซึ่งรุนแรงกว่าระลอกก่อนๆ ทั้งนี้ เริ่มมีสัญญาณบ่งบอกถึงวิกฤติเรื่องเด็กและเยาวชนต้องออกจากระบบกลางศึกษากลางคันครั้งใหญ่แล้ว
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ (Sompong Jitradub) ผู้อำนวยการในสัดส่วนภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ปี 2564 เป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตการณ์ด้านการศึกษาที่รุนแรงจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ความยากจนและเหลื่อมล้ำได้มาถึงจุดสูงสุด หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือ อัตราการออกจากระบบการศึกษากลางคันอาจเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 10-15
แม้ประเทศไทยจะไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนในโรงเรียนของรัฐจนถึงชั้น ม.3 แต่ครัวเรือนไทยยังต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้านการศึกษาของบุตรหลาน เช่น ค่าเดินทางและอาหาร เฉลี่ย 60-185 เหรียญสหรัฐ หรือราว 2-6 พันบาทต่อเดือน นั่นทำให้บางคนไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้ ทั้งนี้ กสศ. ประเมินว่า หากช่วยให้เด็กและเยาวชนไทยไม่หลุดออกจากระบบการศึกษา จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทสเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 3
การป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ นอกจากเศรษฐกิจด้วย ทองพูล บัวศรี (Tongpul Bousri) หัวหน้าโครงกาครูข้างถนน เล่าว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ตนพยายามช่วยให้เด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางอยู่ในระบบการศึกษา แต่ในปีนี้จำนวนคนที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ด้วยแรงสนับสนุนจาการบริจาค ตนได้รับภารกิจให้นำพาพวกเขากลับสู่โรงเรียน ซึ่งดีกว่าทางเลือกอื่นๆ ที่สิ้นหวังกว่านั้น นั่นคือความเสี่ยงตกเป็เนหยื่อการค้ามนุษย์ เช่น การขายบริการทางเพศ หรือแรงงานเด็ก
รายงานข่าวทิ้งท้ายด้วยการกลับไปดูชีวิตของสองแม่-ลูก Waraporn และ Phumeakkawut ซึ่งผู้เป็นแม่กังวลอนาคตของลูกชายที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “รุ่นที่สูญหาย (Lost Generation)” อันหมายถึงการสูญเสียโอกาสทางการศึกษา ที่เป็นใบเบิกทางสู่อนาคตที่สดใส
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่