‘เกศทิพย์’เยี่ยมศูนย์ศึกษาพิเศษสุราษฎร์ธานี ชื่นชมสวัสดิการครูดี
‘เกศทิพย์’เยี่ยมศูนย์ศึกษาพิเศษสุราษฎร์ธานี ชื่นชมสวัสดิการครูดี
เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจครูที่พักอาศัยในหอพักศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงกลางคืน โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า เพื่อรู้ความเป็นอยู่ในสภาพจริง เตรียมพร้อมข้อมูลเรื่องสวัสดิการของครู ตามนโยบาย รมว.ศธ. และรองรับข้อสั่งการเลขาฯ กพฐ. เพื่อลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเห็นผลจริง
.
สำหรับศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีความบกพร่องทุกประเภท ระดับเตรียมความพร้อม ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 19 อำเภอ ปัจจุบันมีนักเรียนจำนวน 360 คน และมีผู้บริหาร รวมถึงครูและบุคลากร รวม 105 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ 41 คน พนักงานราชการ 10 คน ครูอัตราจ้าง 6 คน พี่เลี้ยงเด็กพิการ 44 คน คนครัว 1 คน นักการภารโรง 1 คน แม่บ้าน 1 คน และยาม 1 คน โดยมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา ในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) และเตรียมความพร้อมของคนพิการ เพื่อเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนเรียนรวม และโรงเรียนเฉพาะความพิการ มีรูปแบบการให้บริการใน 2 ลักษณะ ดังนี้
.
1) การให้บริการในศูนย์ฯ :
การให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม แก่ผู้มารับบริการแบบไป-กลับ ในชั้นเรียน และหน่วยบริการประจำอำเภอ โดยจัดการเรียนการสอน ส่งเสริม ฟื้นฟูสมรรถภาพ และเตรียมความพร้อมจำนวน 62 คน โดยแบ่งเป็นห้องเรียน ได้แก่ ห้องเตรียมความพร้อมสำหรับบุคคลออทิสติก จำนวน 5 ห้องเรียน ห้องเตรียมความพร้อมสำหรับบุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญา จำนวน 3 ห้องเรียน ห้องเตรียมความพร้อมสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ จำนวน 1 ห้องเรียน และห้องเรียนเสริมพัฒนาการ ได้แก่ ห้องฝึกพูด ห้องกายภาพบำบัด ห้องกิจกรรมบำบัด ห้องกระตุ้นประสาทสัมผัส เป็นต้น ทั้งนี้ นักเรียนภายในหน่วยบริการประจำอำเภอ ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี แบบไป-กลับ มีนักเรียนรับบริการ จำนวน 112 คน มีพื้นที่ในการให้บริการ 19 อำเภอ มีหน่วยบริการที่เปิดบริการจำนวน 11 หน่วยบริการ ได้แก่ หน่วยบริการบ้านนาเดิม เวียงสระ พระแสง ชัยบุรี เคียนซา ไชยา ท่าฉาง คีรีรัฐนิคม พุนพิน พนม และบ้านตาขุน
.
2) การให้บริการนอกศูนย์ฯ :
การให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มนักเรียนพิการ ได้แก่ นักเรียนพิการที่รับบริการที่บ้าน ตามโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู มีนักเรียนรับบริการ จำนวน 186 คน นักเรียนพิการในห้องเรียนเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี มีนักเรียนรับบริการ จำนวน 57 คน และนักเรียนห้องเรียนคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก โรงเรียนบ้านบางใหญ่ และโรงเรียนวัดท่าไทร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 1
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า จากการเยี่ยมให้กำลังใจครูที่พักอาศัยในหอพักครูของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า หอพักตั้งบริเวณติดกับอาคาร ไม่เปลี่ยว ปลอดภัย และอยู่กันแบบพี่น้อง เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน และครูสะดวกในการเดินทางมาทำงาน รวมถึงสภาพหอพัก และห้องพักอาศัยของครู เป็นสัดส่วน แต่ละชั้นจะแบ่งออกชัดเจน ลักษณะเป็นห้องชุด มีห้องนอนส่วนตัว 2 ห้อง ซึ่งมีห้องน้ำและห้องเตรียมอาหารใช้รวมกัน และสามารถอยู่เป็นครอบครัวได้ด้วย จากการสังเกตและพูดคุยกับครู ครูมีความสุขและพอใจกับความเป็นอยู่ในหอพัก
.
“ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่ดี ทำให้ครูและบุคลากรได้พักอาศัยอย่างปลอดภัย มีความสุข ส่งผลให้สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างเต็มที่ เห็นได้จากการที่วันนี้ได้ไปเยี่ยมบ้านนักเรียนที่ไม่สามารถมารับบริการที่ศูนย์ฯได้ แต่ครูที่ศูนย์ฯก็ออกไปพัฒนาพัฒนาการนักเรียนแบบคุ้นเคยกับผู้ปกครอง สร้างความซึ้งใจให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก ต้องขอชื่นชมผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ทำให้ครอบครัวศูนย์การศึกษาพิเศษฯ แห่งนี้ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยให้ความสำคัญกับการดูแล เอาใจใส่ความเป็นอยู่ของครู จัดสวัสดิการที่ดีให้กับครู สอดรับกับนโยบายของ รมว. ศธ. ในเรื่อง “การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา” ซึ่งเมื่อครูมีความสุข ก็จะทุ่มเทในการสอนอย่างเต็มที่ให้กับนักเรียนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ด้วยเช่นกัน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
.
จากนั้น ในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้เยี่ยมนักเรียนพัฒนาการช้าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ในการดูแลของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี “บ้านอยู่ที่ไหนก็จะไปพัฒนานักเรียน” โดยนักเรียนอายุ 6 ปี มีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง ใช้ภาษาในการสื่อสารได้บ้างเล็กน้อย จากการสอบถามผู้ปกครองนักเรียนเคยเข้าเรียนระดับอนุบาลที่โรงเรียนวัดกลางใหม่ แต่นักเรียนไม่สามารถนั่งทำกิจกรรมในห้องเรียน ไม่สามารถพูดบอกความต้องการหรือสื่อสารกับผู้อื่นได้เหมือนนักเรียนปกติ จึงแนะนำให้มาเตรียมความพร้อมที่ศูนย์ฯ ก่อน เพื่อปรับพฤติกรรมและให้คำแนะนำกับผู้ปกครอง
.
ทั้งนี้ เป้าหมายในการเตรียมความพร้อมส่งต่อ ผู้ปกครองมีความประสงค์ให้นักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับประถมศึกษา สังกัด สพฐ. ที่โรงเรียนวัดกลางใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน โดยสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป คือ การจัดกิจกรรมที่จะพัฒนาให้เด็กกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด จากนั้นส่งต่อเคสให้กับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางช่วยเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ โดยมี 4 ส่วนร่วมใจ ได้แก่ สพฐ. ส่วนกลาง, สศศ., คณะอนุกรรมการเด็กไทยใฝ่ดี และพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่จะร่วมกันดูแลให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสม พร้อมเติบโตจนสามารถช่วยเหลือตนเองและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข