สพฐ.ให้อิสระทุกฝ่ายบริหารการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ตนได้ให้นโยบายไปว่า ต่อไปบทบาทของ สพฐ.ในปีงบประมาณ 2561 จะต้องชี้เป้าไปที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้เห็นอย่างชัดเจน โดย สพฐ.จะเป็นเพียงผู้กำกับนโยบายและเป้าหมายในบางเรื่องที่โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการเองได้ ส่วนการบริหารจัดการจะเปิดกว้างให้เขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนจัดทัพบริหารจัดการกันเอง โดย สพฐ.จะไม่ไปกำหนดว่าเขตพื้นที่ฯและโรงเรียนจะต้องทำอะไรบ้าง
“การพัฒนาประเทศตอนนี้ รัฐบาลได้แบ่งออกเป็น 6 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ชายแดน ซึ่งก็หมายความว่า รัฐบาลได้ดูบริบทในพื้นที่บริการที่คล้ายกันแล้ว ดังนั้น วิธีการดำเนินชีวิตของคนที่จะทำงานสู่เป้าหมายย่อมแตกต่าง ความต้องการในทรัพยากรก็ต่างกัน วิธีคิดก็ย่อมแตกต่างกันด้วย เช่นเดียวกันกับโรงเรียน 30,000 กว่าโรงเรียนทั่วประเทศ ของ สพฐ.ก็ย่อมมีวิธีคิดและการบริหารที่ต่างกัน พื้นที่ก็ต้องการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ดังนั้น วิธีคิดที่จะให้ สพฐ.สนับสนุนก็ไม่เหมือนกันด้วย”
นายบุญรักษ์ กล่าวและว่า นโยบายในเรื่องการอ่านออกเขียนได้ โดยเฉพาะในเรื่องภาษาไทย เราจะกำหนดเป้าหมายวิธีการไม่เหมือนกัน เด็กที่อยู่ภาคกลาง ก็อาจจะมองข้ามช็อตของการพูด ฟัง อ่าน เขียน ภาษาไทย ขณะที่นักเรียนในพื้นที่สูง ที่อยู่ตามชายแดน โรงเรียนชาติพันธ์ุใช้ภาษาท้องถิ่น เขาก็ต้องการเรียนรู้ภาษาไทย เช่นเดียวกันกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.ไม่ได้กำหนดว่าเด็กทุกคนต้องเรียนเนื้อหาตายตัว แต่เราจะกำหนดว่าเด็กต้องทำอะไร ให้มีความรู้ มีทักษะ และมีคุณลักษณะอย่างไรบ้าง ดังนั้น ไม่ว่าใครจะดำเนินการโดยวิธีไหน เป้าหมายก็คือเด็กรู้จักที่จะเลือกใช้มัน เลือกที่จะปลูกฝังจิตสำนึก ความมีวินัย แต่วิธีการไม่เหมือนกัน ซึ่งก็เหมือนหลักสูตรเดียวกันแต่วิธีการต่างกัน มีความหลากหลายในการปฏิบัติของโรงเรียน ซึ่งก็แล้วแต่บริบทของแต่ละพื้นที่ว่าจะต้องไปปรับหลักสูตร หรือจัดการเรียนการสอนให้เข้ากับบริบทของโรงเรียนในพื้นที่ของตัวเองอย่างไร
นายบุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องการจัดสรรงบฯ ต่อไปก็ต้องคิดจากโจทย์ของโรงเรียน สพฐ.จะไม่ออกแบบให้กับโรงเรียน ให้โรงเรียนออกแบบเอง สพฐ.จะดูเพียงนโยบายที่สำคัญที่โรงเรียนไม่สามารถทำได้เท่านั้น เช่น เรื่องของบูธแคม จะให้โรงเรียนหาครูฝรั่งเองก็คงไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ได้คุยกับ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษารุ่นใหม่ แล้วว่าเขตพื้นที่อย่าเป็นกับดักทางความคิดของครู และนักเรียนเขตพื้นที่ฯ จะต้องเปิดกว้างให้โรงเรียนบริหารจัดการเอง สพฐ.มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล นำเป้าหมาย แนวทาง ไปบอกโรงเรียนแล้วและโรงเรียนก็ช่วยกันคิดออกแบบตามบริบทของตัวเอง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ