หนักไปไหม!! ตะลุยสอบกว่า 35 วิชา เพื่ออนาคตของตัวเอง เครียด-นอนไม่หลับ-ต้องทิ้งความฝัน ส่งให้ #เลื่อนสอบให้อนาคตของชาติ ร้อนโซเชียลฯ ให้เห็นใจกันบ้าง ด้านกูรูการศึกษา ซัด ผู้ใหญ่ควรรับฟังเสียงสะท้อนจากเด็กๆ
เครียด-กดดัน เด็ก 64 กำลังถูกทิ้ง!!
“เครียดมากๆ เลยค่ะ ช่วงนี้นอนไม่หลับเลย เพราะยังทำแบบทดสอบ และคะแนนยังไม่ตามเป้าที่คาดก็เลยกลัวมากๆ …ความฝันมันเปลี่ยนกันยาก เราอยากมาตั้งนาน แต่มันกลับคว้าได้ยากกว่าเดิมมากๆ”
ข้อความข้างต้น คือคำพูดของ “น้องเอ” เด็ก ม.6 อนาคตของชาติที่กำลังเผชิญการเตรียมตัวสอบมาราธอน กว่า 25-35 วิชา ไม่ว่าจะเป็นการสอบความถนัดทั่วไป (GAT) สอบความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ (PAT) สอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ (O-NET) รวมทั้งการสอบ 9 วิชาสามัญ
โดยสัปดาห์นี้ เป็นช่วงที่ต้องสอบ หลังจากเพิ่งผ่านพ้นสถานการณ์โควิดมา ทำให้มีเสียงโอดครวญถึงระบบการศึกษาไทย พร้อมทั้ง #เลื่อนสอบให้อนาคตของชาติ ในโลกทวิตเตอร์ เพื่อเรียกร้องให้มีการเลื่อนสอบ เนื่องจากต้องสอบติดต่อกันหลายรายการ ในเวลา 3 สัปดาห์
“คืออาทิตย์นี้กำลังสอบปลายภาคของโรงเรียน วันเสาร์อาทิตย์ที่จะถึงนี้ (20-23 มีนา) จะสอบ GAT- PAT ซึ่งวิชาสอบจะขึ้นกับคณะที่อยากเข้า
เเต่ละคณะก็จะใช้คะแนนที่แตกต่างกัน เช่น เพื่อนหนูอยากเข้าแพทย์ ก็ต้องสอบวิชา GAT, PAT 1 และ PAT 2
แล้วตารางหลังจากนี้ก็ยังอัดๆ กันอีก อาทิตย์ต่อไปก็ต้องสอบอีก 5 วิชา เป็นเนื้อหาที่ต่างกันจาก GAT-PAT โดยสิ้นเชิง
หนูมองว่าทำไมการศึกษาไทยไม่พัฒนาสักที ในเมื่อต่างประเทศเขาใช้ข้อสอบชุดเดียวในการเทียบมาตรฐานการศึกษา
หนูไม่เข้าใจว่า ทำไมเราต้องสอบเนื้อหาที่ไม่เหมือนกันหลายๆ รอบ แถมยังต้องสอบอัดๆ กันอีก และเลื่อนเปิดเทอม แต่ทำไมถึงไม่เลื่อนสอบ ซึ่งหนูมองว่ามันค่อนข้างซับซ้อน ปรับระบบมาตั้งแต่เอนทรานซ์จนปัจจุบันยังทดลองระบบแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาขึ้น
แต่หนูไม่เห็นว่ามันจะพัฒนาสักเท่าไหร่เลยค่ะ ถ้ามาตรฐานการศึกษาของทุกโรงเรียนมันเท่ากัน ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะไม่ดีกว่าเหรอคะ มัวแต่ปรับระบบการสอบกันอยู่นั่น แก้ที่ปลายเหตุแต่ไม่มองที่ต้นเหตุสักที”
เช่นเดียวกับเด็กสาวที่มีความฝันเป็นทันตแพทย์ อย่าง “น้องชมพู่” ยอมรับกับทีมข่าวว่า การสอบในโค้งสุดท้ายนี้ ทำให้เธอต้องยอมทิ้งความฝัน เพราะรู้สึกถึงความกดดัน และบางวิชาที่ต้องเรียนพิเศษนั้น เรียนไม่ทัน แต่ต้องเตรียมสอบแล้ว
“ตอนช่วงประมาณก่อนโควิด หนูอยากเข้าทันตแพทย์ ซึ่งเมื่อมีโควิด ตอนนั้นหนูจะไปเรียนพิเศษ แล้วถูกปิดเพราะโควิดมา หนูรู้สึกว่า เรียนไม่ทัน เตรียมตัวไม่ทัน คือ พยายามที่จะอ่านเอง แต่รู้สึกว่ามันไม่ทันแล้ว หนูก็เลยเปลี่ยนเลย เพราะตอนนั้นรู้สึกกดดันและเครียดมาก
คือแต่ละสนามข้อสอบมันค่อนข้างจะคนละแนวกันเลย ซึ่งเวลาเตรียมตัวมันต้องเตรียมทุกสนาม ไม่ใช่ว่าอ่านวิชาเดียว แล้วมันจะได้ทุกสนามเลย มันก็ไม่ใช่
มีสอบ GAT, PAT, O-NET และ 9 วิชาสามัญ ตอนนี้ยังไม่ได้สอบ วันที่ 20 นี้ จะสอบ GAT-PAT และสอบต่อไปจนถึงเมษา
หนูมีความเครียดและกดดันค่ะ คือ หลักสูตรรุ่นหนูมันเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ ซึ่งข้อสอบมันอาจจะคล้ายๆ ข้อสอบเก่า แต่ว่าไม่ได้เหมือน 100% เพราะว่ามันมีการเพิ่มหลักสูตร คือ มันมีการเตรียมตัวไม่ถูกในบางบทของบางวิชา”
อย่างไรก็ดี สำหรับประเด็นที่ถูกมองว่าเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กๆ หลายคนไม่พร้อมกับการสอบนั้น ทางด้านน้องเอ กลับมองถึงระบบการศึกษาของไทย ที่มีความเหลื่อมล้ำ และไม่รองรับอนาคตของเด็ก
“ด้วยสถานการณ์ที่เป็นมันควรจะปรับตัวไปพร้อมกัน คือ หนูโทษระบบการศึกษานะคะ แต่หนูมองว่าถ้าจะให้ปรับระบบตอนนี้ คือ มันไม่ทันสำหรับเด็ก 64 แล้ว
ดังนั้น หนูก็เลยอยากให้มันเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ด้วยค่ะ ด้วยโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ในเมืองเขาอาจจะไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดของคนต่างจังหวัด ยังคงมีมาเรื่อยๆ ใกล้ตัวขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งตอนที่มันเลื่อนเปิดเทอม เรียนออนไลน์ยังไง มันก็ไม่เท่าเรียนออนไซด์ มันต้องเตรียมตัวมิดเทอม ไฟนอล
มีคนบอกว่าแล้วตอนปิดโควิดทำไมไม่เตรียมตัวให้พร้อม หนูก็อยากถามคำถามเขาเหมือนกันค่ะ ว่า มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ยิ่งการอยู่คนเดียวนานๆ เก็บตัวอ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืน ยังไงก็ท้อเหมือนกัน
เอาจริงๆ คือ หมดไฟไปเลยก็มี หนูพึ่งฮึดตัวเองกลับมาได้ก็ตอนเปิดเทอมนี้เอง ไม่ใช่ว่าไม่อยากเตรียมให้พร้อม แต่เพราะสภาพจิตใจมันไม่พร้อมไปด้วยขนาดนั้น ยิ่งจังหวัดที่ใกล้ชายแดน คือ ไม่เปิดเทอมเลย เข้าไปก็แค่ไปสอบเท่านั้น อันนี้ยิ่งไปกันใหญ่เลยค่ะ เพื่อนหลายคนมาพูดให้หนูฟังว่าเครียดมาก ไม่พร้อมสอบเลย หดหู่กับการสอบมากๆ”
ขณะที่ น้องชมพู มองว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเรียน และการเตรียมตัวสอบ ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะได้รับ
“ทั้ง 2 อย่างค่ะ (โควิดและระบบการศึกษาไทย) คือ อย่างโควิด รุ่นหนูได้เรียนออนไลน์ซึ่งหนูรู้สึกว่า การเรียนออนไลน์มันประสิทธิภาพค่อนข้างน้อย และถ้าเกิดไม่มีเรียนพิเศษ เรียนแต่ในโรงเรียน หนูรู้สึกว่ามันไม่พอที่จะเอาไปสอบจริงๆ”
โปรดรับฟัง…เสียงสะท้อนจากเด็ก
หลายคนตั้งคำถามว่า การศึกษาไทยกำลังทำร้ายเด็กๆ อนาคตของชาติหรือไม่ เพราะการออกมาเรียกร้องของเด็กๆ ในครั้งนี้ ดูจะไม่มีหน่วยงานใดมารับฟังเลย
เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีมติยืนยันจะไม่เลื่อนสอบ TCAS
เกี่ยวกับเรื่องนี้ น้องเอในฐานะเด็ก 64 ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เผยให้ฟังว่า อยากให้ผู้ใหญ่เขาเปิดใจ และรับฟังเสียงของเด็ก เพราะการจัดการเช่นนี้ อาจจะทำให้มีเด็กจำนวนไม่น้อยถูกบีบให้ออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด
“ตอนนี้ขอแค่เรื่องนี้ถึงผู้ใหญ่ให้ออกมาทำให้รู้ว่าพวกเขารับรู้ และพร้อมที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยจัดการกับการสอบในครั้งนี้หน่อย และพร้อมที่จะปรับปรุงระบบการศึกษาของ “ประเทศไทย” ให้เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แล้วค่ะ”
น้องชมพู่ เสริมถึงระบบการจัดการสอบสำหรับเด็กต่างจังหวัดไว้ว่า ควรมีระบบการสอบ เพื่อจะใช้เวลาในการเตรียมตัว
“อยากจะบอกว่าการจัดสอบอย่างนี้ คือ หนูรู้สึกว่ามันเยอะไป สนามมันเยอะไป มันควรจะรวบมาเป็นสนามเดียว เพื่อวัดไปเลย เพราะว่ามันเตรียมตัวเยอะมากจริงๆ”
อย่างไรก็ดี ล่าสุด ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ออกมาเผยให้เห็นถึงปัญหาของการสอบ GAT-PAT ผ่านเฟซบุ๊ก “Athapol Anunthavorasakul” ว่า โดยรวมเด็กๆ ต้องสอบถึง 25-35 วิชา ในช่วงเวลา 19-26 วัน ทั้งสอบปลายภาค สอบวัดผลความรู้ สอบเพื่อนำไปยื่นคะแนนเพื่อเรียนต่อ
แนะควรมีการช่วยเหลือเด็กด้วยการเลื่อนการสอบ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และในฐานะที่คลุกคลีในวงการศึกษามายาวนาน ยังตั้งคำถามถึงผู้ใหญ่ที่เคยเป็นนักเรียน และผ่านการสอบมา ให้ลองคิดภาพการสอบ 25-35 วิชา ในช่วง 3สัปดาห์ ที่ตัดสินอนาคตชีวิตของเด็ก
“มีเหตุผลอะไรที่ผู้ใหญ่ที่กำหนดนโยบายจะดื้อดึงไม่รับฟังเสียงสะท้อนของเด็กๆ ที่เรียกร้องมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา จนวันนี้ต้องลุยสอบปลายภาคของโรงเรียน และอีก 4 วันจะต้องตะลุยสอบ GAT/PAT ไม่มีลูกมีหลาน หรือน้องที่กำลังเรียน ม.6 อย่างน้อยก็ให้นึกถึงว่าตัวเองเคยเป็นเด็ก ม.6 มา
มันเป็นเรื่องที่ make sense แล้วหรือที่ผู้ใหญ่จะดึงดันจะใช้กรอบเวลา และแผนที่ปรับไว้เมื่อหลายเดือนก่อน โดยไม่ได้คำนึงเลยว่า ธ.ค. 63 จนถึงปลาย ก.พ. 64 นี่ มี COVID-19 ระบาดระลอก 2 ร.ร.ต้องปิดฉุกเฉิน เด็กทุกคนต้องเจอเรียนออนไลน์ เรียนได้กะพร่องกะแพร่ง ปั่นงานส่งครูกันทุกวัน ไม่เป็นอันอ่านหนังสือสอบ
และสองวันมานี้ ก็มีสัญญาณการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ที่มีแนวโน้มจะเป็นวงกว้าง 3-5 จังหวัด ท่านก็ยังดึงดันจะจัดการสอบที่นักเรียนราว 200,000-400,000 คน ต้องเดินทางเคลื่อนย้ายข้ามเขตพื้นที่ และจังหวัดเพื่อไปสนามสอบที่ไม่ได้กระจายตัวใกล้บ้านที่เด็กๆ อยู่ อะไรคือเหตุผลที่รับฟังได้บ้างสำหรับการนี้?”
ข่าวโดย: MGR Live