ลูกประคบสมุนไพรเป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยของบรรพบุรุษ ซึ่งหมอพื้นบ้านหรือแพทย์แผนไทยนิยมนำสมุนไพรแบบสดและแห้งมาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ โดยเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณบำบัดอาการโรคทางกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ผิวหนัง คลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและเซลล์ที่อยู่ใต้ และบรรเทาอาการปวดเมื่อย อื่นๆ อีกมากมาย
ผศ.วสันต์ จีนธาดา อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้ร่วมลงพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ปัญหาและให้สอดคล้องต่อความต้องการที่จะพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์บ้านป่าไร่ จ.ปัตตานี ที่เดิมใช้กรรมวิธีแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ตากแห้งด้วยพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งจะเกิดปัญหาในวันที่ไม่มีแสงแดดหรือวันที่มีฝนตก ทำให้ไม่สามารถตากแห้งสมุนไพรได้
ส่งผลให้สมุนไพรมีความชื้นและเกิดเชื้อรา ทำให้ราคาตกต่ำ และไม่สามารถผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการได้ จึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างเครื่องอบแห้งที่สามารถอบแห้งสมุนไพรได้ทุกโอกาส
เครื่องอบแห้งสมุนไพรด้วยฮีตเตอร์อินฟราเรดแบบหลอด มีขนาดห้องอบแห้ง 1.2 x 1.2 x 1.2 เมตร ทำด้วยสแตนเลส ผนังห้องอบแห้งประกอบด้วย 2 ชั้น เพื่อใส่ฉนวนใยแก้ว ป้องกันความร้อนออกจากห้องอบแห้ง มีชั้นวางสมุนไพร 7 ชั้น ใช้ฮีตเตอร์อินฟราเรดแบบหลอดความยาว 1 เมตร ขนาด 500 วัตต์ 4 หลอด ควบคุมอุณหภูมิการอบแห้งได้ด้วยตู้ควบคุม ระบายอากาศด้วยพัดลมขนาด 8 นิ้ว 1 ตัว
เครื่องอบแห้งสมุนไพรด้วยฮีตเตอร์อินฟราเรดแบบหลอดสามารถอบแห้งสมุนไพรได้ทุกช่วงเวลาที่ต้องการ สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตสมุนไพรอบแห้ง กลุ่มแม่บ้านและคนว่างงานในชุมชน ได้พัฒนาความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของสมุนไพรไทย และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการสร้างงานและพัฒนาอาชีพภายในชุมชน
ผศ.วสันต์กล่าวว่า ประสิทธิภาพของเครื่องอบแห้งสมุนไพรด้วยฮีตเตอร์อินฟราเรดแบบหลอด สามารถลดเวลาในการทำงานด้านกรรมวิธีทางความร้อน มีคุณภาพที่ดีจากการอบแห้งโดยใช้รังสีอินฟราเรด ทำให้สามารถให้ความร้อนแก่ชั้นของวัสดุถึงส่วนที่อยู่ภายในได้โดยสม่ำเสมอ
อายุการใช้งานโลหะที่ทำให้กำเนิดความร้อนในฮีตเตอร์ อินฟราเรดช่วงไกลจะถูกเคลือบไว้อย่างดีและไม่ต้องสัมผัสกับอากาศภายนอก มีอายุใช้งานหลายปี ปลอดภัยในการใช้งานเนื่องจากเป็นฮีตเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้า มีกระบวนการผลิต ควบคุมคุณภาพ และสุขลักษณะที่ถูกต้องของสถานที่ผลิต เพื่อให้สามารถผลิตลูกประคบสมุนไพรและสมุนไพรอบตัวที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน
ต้นทุนในการผลิตเครื่องประมาณ 47,000 บาท สอบถามเพิ่มเติม ผศ.วสันต์ จีนธาดา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ศรีวิชัย 089-597-7292
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ