สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบง่าย ๆ ซึ่งนอกจากอาการ “ติดโควิด” ที่ต้องเจอแล้ว อาการหลังหายจากโควิด หรือ ภาวะ Long Covid ก็ดูเหมือนว่า รุนแรงไม่แพ้กัน ซึ่งจากข้อมูลอาการ Long Covid หลัก ๆ คือ ปวดหัว มึนงง ไม่สดชื่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น แต่โรคเจ้าปัญหานี้ นอกจากจะมีผลกับระบบทางเดินหายใจแล้ว อาการที่เจอใหม่คือ “สมองเล็กลง” ได้ด้วย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ได้ทำการศึกษาแบบโดยเปรียบเทียบผลการสแกนสมองของคนอายุ 51-81 ปี จำนวน 785 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อ 401 คน และอีก 384 คนไม่เคยติดเชื้อโควิด-19
ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อแล้ว กลุ่มผู้ที่ “ติดโควิด” มีภาวะ “สมองเล็กลง” หรือการหดตัวของสมองโดยรวมมากกว่า นอกจากนี้ ยังพบการการหดตัวของสมองส่วนเนื้อสีเทา (Gray Matter) พบความเสียหายของเนื้อเยื่อบริเวณที่เชื่อมโยงกับกลิ่นและสมรรถภาพของจิตใจ ซึ่งพบเรื้อรังเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากการติดเชื้อครั้งแรก
ผลการสแกนเผยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสมองหลังติดเชื้อโควิด-19 ที่นักวิทย์พบ ได้แก่
ความหนาของสมองส่วนสีเทาลดลง มีความเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อในคอร์เทกซ์ออร์บิโทฟรอนทัลและไจรัสพาราฮิปโปแคมปัล โดยคอร์เทกซ์ออร์บิโตฟรอนทัลเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่ควบคุมอารมณ์ ความผันผวนของอารมณ์ ความรู้สึกเศร้า มันยังเกี่ยวข้องกับการทำงานทางปัญญาและการตัดสินใจ ไจรัสพาราฮิปโปแคมปัลมีบทบาทในการควบคุมอารมณ์ของเราตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการดึงความจำและการรับรู้และการประมวลผลความเสียหายของเนื้อเยื่อในบริเวณที่เชื่อมต่อกับเยื่อหุ้มสมองส่วนที่เชื่อมโยงกับการรับกลิ่น ส่งผลให้รับกลิ่นไม่ได้หรือรับกลิ่นได้แย่ลงขนาดสมองโดยภาพรวมลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับผลการสแกนก่อนติดเชื้อโควิด-19
นักวิจัยกล่าวว่า แม้ว่าผลกระทบจะเด่นชัดมากกว่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่ “ติดโควิด” แต่ก็พบว่า ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยก็มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเช่นกัน
ศ.กเวนาเอลล์ ดูโอด หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า “ในกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อ แม้จะมีผู้ที่ติดเชื้อไม่รุนแรงมากถึง 96% แต่เราก็พบว่า กลุ่มนี้มีการสูญเสียปริมาณสมองเนื้อสีเทา มีความเสียหายของเนื้อเยื่อ และมีอาการเรื้อรังโดยเฉลี่ย 4.5 เดือนหลังการติดเชื้อ พวกเขายังมีสมรรถภาพของจิตใจลดลงในการทำงานที่ซับซ้อนและการเสื่อมสภาพของจิตใจนี้ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสมองเหล่านี้”
นักวิจัยระบุว่า การหดตัวของสมองปกติไม่ใช่เรื่องแปลก สมองของเราจะหดตัวอยู่แล้วเมื่อเราอายุมากขึ้น คนเราจะสูญเสียสมองส่วนส่วนสีเทาทุกปี โดยเฉลี่ยระหว่าง 0.2-0.3% ต่อปี แต่ผลการศึกษาใหม่นี้พบว่า การติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้สูญเสียสมองส่วนสีเท่าระหว่าง 0.2-2% เท่ากับว่า การติดโควิด-19 อาจทำให้สมองของเราเล็กลงในไม่กี่เดือน จากที่ต้องใช้เวลา 1-10 ปีตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม จึงจะสรุปออกมาเป็นภาพรวมได้ และต้องดูว่า ยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องอีกหรือไม่ ทั้งนี้ การศึกษาได้ดำเนินการในช่วงที่สายพันธุ์อัลฟาเป็นสายพันธุ์หลักในสหราชอาณาจักร จึงยังไม่ทราบผลของโควิด-19 สายพันธุ์อื่นต่อสมองในรูปแบบนี้ และยังไม่ทราบด้วยว่า วัคซีนโควิด-19 สามารถป้องกันหรือรักษาการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองได้หรือไม่
ซึ่งข้อมูลนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เคยระบุว่า ภาวะ “Long COVID” กับปัญหาด้านความจำและจิตเวชXie Y และคณะ ทำการศึกษาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ 153,848 คน ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน และเปรียบเทียบกับประชากรที่ไม่เคยติดเชื้อ เพื่อศึกษาว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาทางจิตเวชมากน้อยเพียงใดในช่วง 12 เดือนถัดมาเผยแพร่งานวิจัยในวารสารการแพทย์ระดับโลก British Medical Journal สาระที่สำคัญมากมีดังนี้
- หนึ่ง การติดเชื้อมาก่อนจะทำให้เสี่ยงต่อโรคจิตเวชมากขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อถึง 39%, เสี่ยงต่อภาวะเครียดมากขึ้น 35%, เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านความจำมากขึ้น 80% และมีปัญหาด้านการนอนหลับมากขึ้น 41%
- สอง ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ จะพบว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้เสี่ยงต่อปัญหาจิตเวชต่าง ๆ ตามมา มากกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 1.43 เท่า
ขอบคุณที่มา Al Jazeera