เหตุใด “เจ้าชายฟิลิป” จึงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น “ดยุกแห่งเอดินบะระ” ตำแหน่งนี้มีความหมายอย่างไร และใครจะเป็นผู้สืบทอดต่อ
วันที่ 9 เมษายน 2564 กรณีสำนักพระราชวังบักกิงแฮมออกแถลงการณ์ระบุว่า ด้วยความโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงประกาศการสิ้นพระชนม์ของพระราชสวามีอันเป็นที่รัก เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ซึ่งจากไปอย่างสงบ ณ พระราชวังวินด์เซอร์ เมื่อช่วงเช้าวันนี้
ต่อมา เอดินบะระนิวส์ รายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าชายฟิลิปอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มานานกว่า 7 ทศวรรษ ทั้งสองพระองค์ถือเป็นคู่รักราชวงศ์ ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษ
เจ้าชายฟิลิปได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็น “ดยุกแห่งเอดินบะระ” ตั้งแต่อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ แต่ทำไมเจ้าชายฟิลิปจึงได้รับพระราชทานพระอิสริยยศนี้ ตำแหน่งนี้มีความสำคัญอย่างไร และใครจะเป็นผู้สืบทอดต่อ ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้
- “เจ้าชายฟิลิป” พระสวามีในควีนเอลิซาเบธที่ 2 สิ้นพระชนม์
- เปิดภาพในอดีต “เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ”
-
เปิด 10 พระราชประวัติ “เจ้าชายฟิลิป” เส้นทางก่อนมาเป็นเจ้าชาย
ทำไมเจ้าชายฟิลิปจึงได้เป็น “ดยุกแห่งเอดินบะระ”
ก่อนที่เจ้าชายฟิลิปจะอภิเษกสมรส พระองค์ทรงสละฐานันดรทั้งหมดของกรีซและเดนมาร์ก รวมถึงสละการสืบทอดราชบัลลังก์กรีกด้วย และได้กลายเป็นสามัญชนข้าแผ่นดินอังกฤษ โดยนำนามสกุลเดิมของพระมารดาคือ “บัทเทินแบร์ค” ซึ่งเป็นภาษาเยอรมัน มาแปลงเป็น “เมานต์แบ็ตเทน” แล้วใช้เป็นนามสกุลตัวเอง
ในวันเข้าพิธีอภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เจ้าชายฟิลิปได้รับพระราชทานพระอิศริยยศ “ดยุกแห่งเอดินบะระ” จากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
หลังสมเด็จพระราชินีฯ ขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ.2500 พระองค์ตัดสินพระทัยสถาปนายศให้กับพระราชสวามีเป็นเจ้าชายแห่งสหราชอาณาจักร เพิ่มเติมจากพระอิสริยยศ ดยุกแห่งเอดินบะระ
“ดยุกแห่งเอดินบะระ” หมายถึงอะไร?
ดยุกแห่งเอดินบะระทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ รวมถึงประธานหรือสมาชิกขององค์กรกว่า 780 แห่ง พระองค์คือคู่ครองพระมหากษัตริย์อังกฤษ ที่ดำรงพระอิสริยยศยาวนานที่สุด ขณะเดียวกันยังเป็นสมาชิกราชวงศ์อังกฤษชาย ที่มีพระชนมายุมากที่สุด โดยจะทรงมีพระชนมายุครบ 100 พรรษา ในปีนี้
เจ้าชายฟิลิปยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นประธานโครงการรางวัลดยุกแห่งเอดินบะระ ซึ่งเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จของเยาวชนชั้นนำระดับโลก
ดยุกแห่งเอดินบะระ ตั้งชื่อตามเมืองเอดินบะระ
มีการพระราชทาพระอิสริยยศ ดยุกแห่งเอดินบะระ ให้กับสมาชิกราชวงศ์ มาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2269 พระเจ้าจอร์จที่ 1 พระราชทานพระอิสริยยศนี้ให้กับเจ้าชายเฟรเดอริค ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์
ต่อมา สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้พระราชทานพระอิสริยยศนี้ให้กับพระราชโอรสพระองค์รองคือ เจ้าชายอัลเฟรด แม้ว่าตามธรรมเนียมแล้ว เจ้าชายอัลเฟรดจะต้องดำรงอิศริยยศเป็นดยุกแห่งยอร์ก ซึ่งเป็นพระอิสริยยศสำหรับพระราชโอรสองค์ที่สองของกษัตริย์
การพระราชทานพระอิสริยยศ ดยุกแห่งเอดินบะระ ครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อเจ้าชายฟิลิปอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธ หลังจากนั้นเจ้าหญิงเอลิซาเบธ จึงได้เปลี่ยนการออกพระนามของพระองค์เป็น เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งเอดินบะระ กระทั่งเสด็จขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาในปี พ.ศ. 2495
ใครจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง “ดยุกแห่งเอดินบะระ”
เนื่องจากเจ้าชายฟิลิปทรงไม่ได้อยู่ในสายลำดับการสืบราชบัลลังก์ ดังนั้นสายลำดับการสืบราชบัลลังก์จึงจะไม่เปลี่ยนแปลง ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระองค์
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษ ยังทรงอยู่ในลำดับแรกของสายลำดับการสืบราชบัลลังก์ ตามด้วยเจ้าชายวิลเลียม พระโอรสและพระธิดาทั้ง 3 พระองค์ของเจ้าชายวิลเลียม
เนื่องจากดยุกแห่งเอดินบะระเป็นบรรดาศักดิ์ขุนนางตลอดชีพ ซึ่งจะต้องมีการสืบทอด เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์ พระชนมายุ 56 ชันษา ซึ่งเป็นพระโอรสองค์เล็กสุด คาดว่าจะเป็นผู้สืบทอดพระอิสริยยศนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า ในอนาคตพระอิสริยยศนี้จะเป็นของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ หากพระองค์ยังไม่ได้สืบทอดราชบัลลังก์ แต่ถ้าทรงสืบราชบัลลังก์เรียบร้อยแล้ว ตำแหน่งจะเป็นของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด
ปัจจุบัน เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดมีพระอิสริยยศระดับ “เอิร์ล” ซึ่งถือเป็นพระอิสริยยศที่ต่ำกว่าพระเชษฐาทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งได้รับพระราชทานพระอิสริยยศระดับ “ดยุก” จากสมเด็จพระราชินีนาถฯ ในวันที่เข้าพิธีเสกสมรส
การได้เป็นดยุกแห่งเอดินบะระ หมายความว่าเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดจะทรงได้รับมรดกต่อจากพระบิดา และจะต้องสานต่องานในโครงการรางวัลดยุกแห่งเอดินบะระด้วย
รางวัลดยุกแห่งเอดินบะระคืออะไร?
รางวัลดยุกแห่งเอดินบะระเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2499 โดยได้รับความร่วมมือจากนักการศึกษาชาวเยอรมัน “เคิร์ต ฮาห์น” และ “ลอร์ด ฮันต์” ซึ่งเป็นผู้พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์สำเร็จคนแรก
ปัจจุบัน รางวัลนี้ขยายไปมากกว่า 140 ประเทศ โดยคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 14 ถึง 24 ปี ต่างพากันมาเข้าแข่งขัน เพื่อลุ้นรางวัลเป็นประสบการณ์นอกหลักสูตร และการเรียนรู้ทักษะกลางแจ้ง รวมถึงทักษะการใช้ชีวิตต่าง ๆ นอกจากนี้ รางวัลที่ได้รับทั้งเหรียญทองแดง เหรียญเงิน และเหรียญทอง ยังเป็นที่ยอมรับจากนายจ้างอีกด้วย
โดยทั่วไปแล้ว ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาทักษะใหม่บางอย่าง วางแผนและฝึกอบรม ตลอดจนการออกเดินทางสำรวจ
เจ้าชายฟิลิปมียศอะไรอีกบ้าง?
เช่นเดียวกับพระอิสริยยศ “ดยุกแห่งเอดินบะระ” เจ้าชายฟิลิปยังได้รับพระราชทานพระอิสริยยศเป็น เอิร์ลแห่งแมริโอเน็ต และบารอนกรีนวิช เมื่อพระองค์อภิเษกสมรสกับควีนเอลิซาเบธ
ขณะที่สำนักพระราชวังเรียกพระองค์ง่าย ๆ ว่า ดยุกแห่งเอดินบะระ แต่พระนามเต็มของพระองค์นั้นมีความยาวถึง 133 คำ
บรรดาศักดิ์และพระอิศริยยศของพระองค์ถูกเพิ่มเติมเข้าไปตลอดหลายปีที่ผ่านมา บ้างก็ได้เป็นเงิน บ้างก็ได้เป็นเครื่องบรรณาการ บ้างก็ได้ทั้งสองอย่าง
พระนามเต็มของดยุกแห่งเอดินบะระคือ His Royal Highness The Prince Philip, Duke of Edinburgh, Earl of Merioneth, Baron Greenwich, Royal Knight of the Most Noble Order of the Garter, Extra Knight of the Most Ancient and Most Noble Order of the Thistle, Member of the Order of Merit, Grand Master and First and Principal Knight Grand Cross of the Most Excellent Order of the British Empire, Knight of the Order of Australia, Additional Member of the Order of New Zealand, Extra Companion of the Queen’s Service Order, Royal Chief of the Order of Logohu, Extraordinary Companion of the Order of Canada, Extraordinary Commander of the Order of Military Merit, Lord of Her Majesty’s Most Honourable Privy Council, Privy Councillor of the Queen’s Privy Council for Canada, Personal Aide-de-Camp to Her Majesty, Lord High Admiral of the United Kingdom
เจ้าชายฟิลิปยังได้รับตำแหน่งอัศวินจากหลายประเทศในโลก ซึ่งรวมถึงกรีซ เดนมาร์ก เอธิโอเปีย และบราซิล
ส่วนยศ “จอมพลเรือแห่งราชนาวีอังกฤษ” (Lord High Admiral of the United Kingdom) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานแด่เจ้าชายฟิลิป ในวาระทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา