“เจ้าสัวธนินท์” ดันไฮสปีดอีอีซี เชื่อมลาว จีน ทะลุยุโรป หนุนการค้า ท่องเที่ยวไทย
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในรอบ 1 ปี ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทย-เศรษฐกิจโลกปี 2566 ระหว่างร่วมการประชุมสัมมนา Forum for World Education 2022 ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจเปลี่ยน การศึกษาปรับ รับแนวโน้มอนาคต” ณ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
โดยนายธนินท์ตอบคำถามเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงว่า “ผมคิดว่ารถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของการเปลี่ยนแปลงประเทศ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงไม่ใช่รถไฟความเร็วสูงอย่างเดียว ต้องเชื่อมไปถึงประเทศลาว เขมร เวียดนาม จีน เราจะเป็นจุดศูนย์กลางที่แท้จริง เพราะมีท่าเรือน้ำลึก 2 ท่า สนามบิน 3 สนามบิน และในเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก มีอุตสาหกรรม รายได้จีดีพีร้อยละ 70 ของประเทศ
“แต่ทำแค่ตรงนี้ไม่พอ ต้องเชื่อมไปถึงประเทศลาวกับจีนที่สร้างถึงลาวแล้ว เพราะเมืองคุนหมิง สิบสองปันนา มีทั้งคนจีน คนทั่วโลกมาเที่ยว 700 ล้านคน ถ้าเราเอารถไฟมาเที่ยวเมืองไทยสัก 20-30 ล้านคน เมืองไทยก็ไม่มีที่ให้เที่ยว มันมีความหมายมาก แต่อย่ามองสั้นๆ 220 กิโลเมตร (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) สิ่งสำคัญต้องไปเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน เอาสินค้าจากท่าเรือไปขายให้กับลาว จีนทะลุไปถึงยุโรป”นายธนินท์กล่าว
สำหรับเมกะโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วิ่งจากดอนเมืองเข้าสุวรรณภูมิ สิ้นสุดที่อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ปิดดีลไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562
โดยมีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ และมีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (กลุ่มซีพี) คู่สัญญาเป็นผู้รับสัมปทานก่อสร้าง การเดินรถและพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีแบะรอบสถานีหรือTOD สถานีมักกะสันและศรีราช ระยะเวลา 50 ปี รวมถึงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ด้วย
สำหรับโปรเจ็กต์นี้ซีพีมีพันธมิตรร่วมทุน ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือBEM บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน)และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือCRCC
แนวเส้นทางโครงการจะพาดผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มี 9 สถานี ได้แก่ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา จะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเริ่มเดินหน้าก่อสร้างโครงการได้ภายในปี 2566
เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญของประเทศ และเป็นแม่เหล็กดึงดูดในนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะออกหรืออีอีซี ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนเพื่อดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์แบบ