ผุดอีกอดีต ผอ.สศศ.โกงเงินกองทุนคนพิการ 20 ล้าน สพฐ.เผยผลสอบวินัย“ไล่ออก”
เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2561 ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้รายงานให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ทราบว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ดำเนินการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นางญาณกร จันทหาร อดีต ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) กรณีมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบการใช้เงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ของ สศศ. ซึ่งเป็นสำนักงานในสังกัด สพฐ. โดยในสมัยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.อดีตเลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้กลุ่มตรวจสอบภายใน(ตสน.) สพฐ.เข้าไปตรวจสอบ และพบว่ามีการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ ในปี 2557-2558 มีการโอนเงินอบรมพัฒนาครูต่างประเทศ จำนวน 2 ล็อต วงเงินประมาณ 40 ล้านบาทไปที่ศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 5 จ.สุพรรณบุรี และมีการโอนเงินจากศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 5 จ.สุพรรณบุรี เข้าบัญชี นางญาณกร จันทหาร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษเขตการศึกษา 5 จ.สุพรรณบุรี จำนวน 20 ล้านบาท ถึงแม้จะนำเอกสารหลักฐานมาล้างหนี้แล้ว ก็ถือว่ามีความผิด เพราะเรื่องนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เอกสารหลักฐานการล้างหนี้ แต่อยู่ที่การดำเนินงานไม่เป็นไปตามมติของกองทุนฯ ซึ่งผลการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว คือ ไล่ออก
“ผมได้เชิญนิติกรมาพบ เพื่อให้เร่งแจ้ง สว.3ให้เจ้าตัวมาชี้แจงภายใน 15 วัน อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้ย้ายนางญาณกร มาอยู่ที่สำนักอำนวยการ สพฐ. แต่ทั้งนี้ก็คงต้องย้ายไปที่หน่วยศึกษานิเทศก์อีกครั้ง เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) กรณีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเงิน จะต้องดำเนินการ 3เรื่อง คือ วินัย อาญา และความผิดทางละเมิด”
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่าและว่า การสอบสวนกรณีนี้ สพฐ.ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะรายนี้เพียงรายเดียว ใครที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ชี้มูลให้สอบ ทาง สพฐ.ก็ต้องตั้งกรรมการสอบสวนทั้งหมด
สำหรับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 23 โดยให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในสํานักงาน เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” เพื่อเป็นทุนสําหรับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาสมรรถภาพคนพิการ การศึกษา และการประกอบอาชีพของคนพิการ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการดําเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โดยจัดสรรให้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึงซึ่งวิสัยทัศน์ของกองทุนฯ คือเป็นกองทุนสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนทั่วถึงและเป็นธรรม โดยมีพันธกิจ คือ 1.พัฒนาศักยภาพด้านอาชีพและการศึกษาของคนพิการ 2.สนับสนุนการดําเนินงานขององค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ และ 3.พัฒนาระบบบริหารจัดการและบุคลากรของกองทุนฯ
นอกจากนี้ ยังให้กาบริการอื่น ๆ อาทิ ให้บริการกู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพ หรือขยายกิจการ รายบุคคล ไม่เกิน 60,000 บาท, รายกลุ่ม ไม่เกิน 1 ล้านบาท ผ่อนชำระภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย ทั้งนี้ หากมีผู้ประสงค์จะกู้ยืมเงินเกินกว่าวงเงินที่กำหนดให้มีการพิจารณาเป็นรายกรณี โดยไม่เกิน120,000 บาท เป็นต้น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ