เชื่อมั่น กศน.กลไกขับเคลื่อนไทยนิยมยั่งยืน
วันที่ 30 เม.ย.2561 พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวในการเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น ว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่า เพื่อผลิตกำลังคน สร้างพลังทางสังคม และลดการเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นการกระจายโอกาสอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม เพื่อการพัฒนาไปสู่ประเทศไทย 4.0 โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเน้นที่การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” และการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการของส่วนราชการต่างๆ เป็นแบบต่างคนต่างทำ ขาดการบูรณาการร่วมกัน ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน และกลายเป็นภาระของประชาชน ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องมีการบริหารงานในรูปแบบ “ไทยนิยม ยั่งยืน” เพื่อบูรณาการงานของรัฐบาล และทุกกระทรวง โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง สิ่งสำคัญคือ การสร้างการเรียนรู้ และทำความเข้าใจกับประชาชน ด้วยความตั้งใจ ส่งผลให้เกิดความรักสามัคคีปรองดองกัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ จะมีบุคลากรที่เป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ ซึ่งส่วนมากเป็นครู กศน.ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกระทรวงศึกษาธิการโดยตรงและเป็นแกนหลักในการประสานงานระดับพื้นที่ โดยบุคลากรดังกล่าวสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการโครงการไทยนิยม ยั่งยืนในระดับตำบลได้ และสามารถดึงผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาขององค์กรหลักอื่น เข้าไปเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการประชุมทีมขับเคลื่อนในครั้งนี้ คือ การที่ทุกท่านได้เข้ามาร่วมมือร่วมใจ และรวมพลังในการทำงานตามภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าทุกท่านจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาล”พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ภายใต้กรอบหลักในการดำเนินการเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน 10 เรื่อง โดยการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงการดำเนินงานในทุกระดับ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ