เด็กไทยกวาดรางวัล หุ่นยนต์นานาชาติที่ฮ่องกง
วันที่ 22 ก.ค.2561 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) นำนักเรียนไทยพร้อมครูที่ปรึกษา และผู้ควบคุมการแข่งขัน เดินทางไป แข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติในรายการ International Robotic Olympiad 2018 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ฮ่องกง (Hong Kong Science Park) เขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ค.2561 โดยคัดเลือกนักเรียนจากโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในรายการแข่งขันหุ่นยนต์ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 67 ปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา จำนวน 8 ทีม เป็นตัวแทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขันร่วมกับทีมจากมณฑลเหลี่ยวหนิง เซี่ยงไฮ้ มาเก๊า ฮ่องกง มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ผลปรากฎว่าประเทศไทย ได้รับรางวัลรายการต่างๆ ดังนี้
รร.วัดพราหมณี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษา (สพป.) นครนายก เขต 2 ชนะเลิศหุ่นยนต์ความคิดสร้างสรรค์ปั่นพลังงานด้วยมือ (Hand Generator Single Motor Appearance Design Competition)
รร.บ้านหนองหัววัว สพป.ขอนแก่น เขต 1 ชนะเลิศหุ่นยนต์ใต่ราว(ทีม A) (Hand Generator Horizontal Bar Climbing Robot Competition) รองชนะเลิศอันดับ 1 หุ่นยนต์ใต่ราว(ทีม B) และรองชนะเลิศอันดับ 2 หุ่นยนต์ชกมวย (Robot Boxing Competition)
รร.สนามบิน สพป.ขอนแก่น เขต 1 ชนะเลิศหุ่นยนต์ใต่ราว(ทีม A) (Hand Generator Horizontal Bar Climbing Robot Competition) รองชนะเลิศอันดับ 1 หุ่นยนต์ใต่ราว(ทีม B) และรองชนะเลิศอันดับ 3 หุ่นยนต์เตะจุดโทษ (Robot Penalty Shoot-out Competition)
รร.แปลงยาวพิทยาคม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการมัธยมศึกษา (สพม.) เขต 6 (ฉะเชิงเทรา) ชนะเลิศหุ่นยนต์ไตรกีฬา (Hand Generator Triathlon Robot Relay Competition) ชนะเลิศหุ่นยนต์ปืนบันได(ทีม A) (Hand Generator Ladder Climbing Robot Competition) และรองชนะเลิศอันดับ 1 หุ่นยนต์ปืนบันได(ทีม B)
รร.บ้านห้วยน้ำเย็น สพป.เชียงราย เขต 2 ชนะเลิศหุ่นยนต์ว่ายน้ำท่าผีเสื้อ (Hand Generator Robot Butterfly Stroke Swimming Competition) และรองชนะเลิศอันดับ 1หุ่นยนต์ม้าวิ่งเร็ววิ่งผลัด (Robot Horse Relay Competition)
รร.เมืองกลางประชานุกูล สพม.เขต 28 (ยโสธร) ชนะเลิศหุ่นยนต์สำรวจดาวนพเคราะห์ (Planet Exploration Competition)
รร.บ้านน้อยห้วยรินวิทยา สพป.เชียงใหม่ เขต 5 รองชนะเลิศอันดับ 1 หุ่นยนต์หนอนวิ่งเร็ว (Hand Generator Worm Robot Short Distance Run Competition) และรองชนะเลิศอันดับ 3 หุ่นยนต์หนอนความคิดสร้างสรรค์ (Hand Generator Worm Robot Appearance Design Competition)
และรร.ทุ่งหลวงพลับพลาไชย สพม.27 (ร้อยเอ็ด) รองชนะเลิศอันดับ 1 หุ่นยนต์ลากม้านั่ง(ทีม A) (Hand Generator Robot Sled Race) และรองชนะเลิศอันดับ 2(ทีม B)
น.ส.สิริมา หมอนไหม ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยทางการศึกษา สพฐ. กล่าวถึงผลการแข่งขันว่า เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่ สพฐ. เปิดโอกาส เปิดเวทีการแข่งขันให้กับเด็กๆ เพราะนอกจากเด็กเหล่านี้จะได้แสดงศักยภาพในระดับภูมิภาค หรือระดับประเทศแล้ว ยังได้ออกมาสู่ระดับสากลมากยิ่งขึ้น ซึ่งเขาจะได้เรียนรู้ว่าเด็กในวัยเดียวกันซึ่งเป็นเด็กต่างชาตินั้น มีความสามารถและมีศักยภาพอย่างไร เราก็จะมาเรียนรู้ร่วมกัน
“สพฐ.ก็มีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดศักยภาพของเด็กๆที่มีความสามารถในแต่ละด้าน ซึ่งมีหลายเวทีให้เด็กได้แสดงความสามารถทั้งด้านวิชาการ ทักษะทางวิทยาศาสตร์รวมถึงด้านเทคโนโลยีและด้านอาชีพ ซึ่งการแข่งขันไม่ได้หมายถึงการแพ้ ชนะ หรือต้องมาชนะเพียงอย่างเดียว ก่อนเดินทางมาเราได้จัดการอบรมให้เด็กได้เรียนรู้ร่วมกันในการต่อยอดเรื่องของการนำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษ พัฒนาเรื่องของเทคนิคต่างๆ เมื่อมาถึงเวทีเขาต้องเรียนรู้ในเรื่องของทักษะชีวิต ไม่ว่าผลจะแพ้หรือชนะ ในส่วนนี้ก็จะเป็นทักษะชีวิตที่ดี ที่เขาจะต้องนำไปใช้ในอนาคต” น.ส.สิริมา กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ