ประชาชนต้องมีน้ำที่มีปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอสำหรับการดำเนินกิจกรรมประจำวัน การดำรงชีพ การพัฒนาประเทศ และการรักษาสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security)
แต่ที่ผ่านมาปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น เกิดจากปัจจัยหลายอย่างที่ซับซ้อนและปริมาณน้ำต้นทุนไม่แน่นอนสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งการประมาณความต้องการน้ำเพื่อวางแผนและจัดสรรน้ำยังไม่แน่นอน จึงต้องหาแนวคิดใหม่ๆ และเครื่องมือเทคนิคการจัดการทันสมัยเข้ามาช่วย
ดร.ปิยธิดา เรืองรัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะนักวิจัยภายใต้โครงการรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของประเทศไทย:ทรัพยากรน้ำกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยทุนวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวคิดในการจัดการน้ำในกระแสโลกใหม่ มุ่งเน้นการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน
การวางแผนบริหารจัดการน้ำของไทยจึงควรนำแนวคิดและเครื่องมือการจัดการน้ำในบริบทของกระแสโลกใหม่มาพิจารณาประยุกต์ใช้ และจะต้องครอบคลุมตั้งแต่พื้นฐานสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้น้ำและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านต่างๆ
ผลวิจัยยังพบว่า การนำข้อมูลมาใช้ให้เต็มประสิทธิภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความสำคัญ และการนำแนวคิดความมั่นคงด้านน้ำของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เข้ามาประยุกต์ใช้ จะช่วยในการวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ
“เรื่องของข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจวางแผนบริหารจัดการน้ำ ปัจจุบันข้อมูลจากดาวเทียมซึ่งทั่วโลกนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น อาทิ ติดตามพื้นที่น้ำท่วม ภัยแล้ง และประมาณปริมาณฝน”
ปัจจุบันเทคโนโลยีการสำรวจด้วยดาวเทียมที่เริ่มเข้ามามีบทบาทบริหารจัดการน้ำ เช่น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) นำดาวเทียมมาใช้ติดตามและคาดการณ์น้ำท่วม
GISTDA -สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ของไทย ใช้ข้อมูลดาวเทียมร่วมกับข้อมูลการเกษตรจัดทำการบริหารจัดการความเสี่ยงภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีอวกาศ
“ การนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ จะช่วยติดตามและคาดการณ์สถานการณ์น้ำได้ เช่น การเพาะปลูก สามารถใช้ข้อมูลวิเคราะห์ ระยะการเติบโตของพืช และนำมาประมวลร่วมกับข้อมูลสภาพภูมิอากาศและความชื้นในดิน เพื่อประมาณความต้องการใช้น้ำของพืช ก็จะช่วยเรื่องเวลาและปริมาณที่จะจัดสรรน้ำในช่วงที่พืชต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หรือกรณีน้ำท่วม ข้อมูลปริมาณฝนตกในพื้นที่ต้นน้ำหรือภูเขาอาจมีข้อมูลจำกัด หากนำข้อมูลดาวเทียมมาช่วยประเมินปริมาณฝนที่ตกในบริเวณดังกล่าวได้จะทำให้เราประเมินสถานการณ์ และสามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำในแต่ละจุดที่สำคัญๆได้ดียิ่งขึ้น”
นอกจากการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมแล้ว แนวคิดจัดการน้ำในกระแสโลกใหม่ และที่นำมาใช้กันทั่วโลก โดยเฉพาะแนวคิดความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งในร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี โดยใช้กรอบแนวคิดความมั่นคงด้านน้ำ ที่พัฒนาขึ้นโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มาประยุกต์ใช้ประเมินสถานะความมั่นคงด้านน้ำของไทยในระดับลุ่มน้ำ และระดับจังหวัด เพื่อสะท้อนภาพข้อมูลในเชิงพื้นที่และเวลาแบบต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยติดตามและวางแผนเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของไทยได้ครอบคลุมทุกภาคส่วนมากขึ้น
ดัชนีความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security Index) ที่พัฒนาโดย ADB ได้นำมาใช้เป็นแนวทางประเมินสถานะความมั่นคงของน้ำในระดับประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อสะท้อนความมั่นคงด้านน้ำ 5 ด้าน
ประกอบด้วย 1) ความมั่นคงด้านน้ำเพื่อครัวเรือน 2) ความมั่นคงด้านน้ำเพื่อเศรษฐกิจ 3) ความมั่นคงด้านน้ำเพื่อชุมชนเมือง 4) ความมั่นคงด้านน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อม 5) ความมั่นคงด้านน้ำเพื่อให้สามารถรับมือและฟื้นตัวจากภัยพิบัติด้านน้ำได้
ดังนั้น การนำมาใช้กับไทยจึงต้องมีการประยุกต์ เพื่อให้ดัชนีชี้วัดนี้มีความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศและความต้องการในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม แนวคิดการจัดการน้ำในกระแสโลกใหม่ ยังมีเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างทรัพยากร โดยเฉพาะการจัดการน้ำโดยคำนึงความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ-พลังงาน-อาหาร ซึ่งเป็นแนวโน้มการจัดการน้ำในกระแสโลกใหม่ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ
รวมทั้งกลไกกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีการกำหนดเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมและบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปอย่างรอบคอบและเหมาะสมในทุกสถานการณ์ได้ ปัจจุบันได้บรรจุไว้แล้วในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ