“น้ำแม่ยวม” เป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากอำเภอขุนยวมผ่านอำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มาบรรจบกับแม่น้ำเงาที่บ้านสบเงา ตำบลแม่สอด อำเภอสบเมย และไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมยที่บ้านสบยวม ตำบลแม่สามแลบ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสายนี้ยาวประมาณ 215 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน แม่น้ำสายนี้ไหลจาก ทางทิศเหนือลงสู่ทางใต้ ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยวมได้แก่ แม่น้ำปอน น้ำแม่ละหลวง
ปริมาณน้ำ ในแม่น้ำยวมมีมหาศาล ซึ่งทางกรมชลประทาน หาทางใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายสุรชาติ มาลาศรี ผอ.สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ทำการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการศึกษาโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพล โดยการสร้างเขื่อนในแม่น้ำยวมแล้วทำการส่งน้ำด้วยอุโมงค์ไปเติมลงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งได้น้ำต้นทุนปีละประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร
โครงการนี้สิบเนื่องจากปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำยวมในแต่ละปีนั้นมีมากเกินใช้งาน และไหลลงสู่แม่น้ำเมย จากนั้นก็จะไหลไปลงแม่น้ำสาละวิน ออกสู่ทะเลอันดามันที่อ่าวเมาะตะมะ โดยไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ กรมชลประทานจึงให้มีการศึกษาหาแนวทางนำน้ำส่วนนี้ไปเติมเขื่อนภูมิพล ซึ่งผลการศึกษาสรุปว่า
1.ต้องสร้างเขื่อนในแม่น้ำยวม เหนือจุดบรรจบแม่น้ำเมย ทางด้านเหนือน้ำประมาณ 13.8 กม.หัวเขื่อนจะตั้งอยู่ที่บ้านแม่ละนา ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก โดยมีความจุราว 69 ล้านลูกบาศก์เมตร
2.ก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่บ้านสบเงา เพื่อทำการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่ยวมเข้าอุโมงค์
3.สร้างอุโมงค์ส่งน้ำ ขนาด 8.1-8.3 เมตร ความยาวประมาณ 62 กิโลเมตร เพื่อรับน้ำจากสถานีสูบน้ำบ้านสบเงาไปเติมใส่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล
4.ปรับปรุงลำน้ำแม่งูด ระยะทางราว 2 กิโลเมตร รวมค่าก่อสร้างประมาณ 71,110 ล้านบาท โดยการลงทุนในการก่อสร้างมี 2 แนวทาง คือ ภาครัฐลงทุนทั้งหมด และภาครัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน
สำหรับการผันน้ำจากเขื่อนแม่ยวมไปเขื่อนภูมิพลนี้ จะดำเนินการในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนมกราคม สามารถจะเติมน้ำในเขื่อนภูมิพลได้ปีละประมาณ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร
กรมชลประทานจะไม่ผันน้ำช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งมีปริมาณน้ำในแม่น้ำน้อย โดยจะมีการระบายน้ำจากเขื่อนแม่ยวมเท่ากับปริมาณน้ำตามสภาพธรรมชาติในแม่น้ำยวมในแต่ละช่วง เพื่อรักษาระบบนิเวศด้านท้ายน้ำด้วย
ปัจจุบันโครงการได้ศึกษาแล้วเสร็จ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(Environmental Impact Assessment:EIA) ผ่านความเห็นชอบของ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ(คชก.) แล้ว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไป คือ ส่งรายงานให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบและส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจาณาอนุมัติโครงการต่อไป
สิ่งที่จะที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ คือ ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในเขื่อนภูมิพล จะก่อให้เกิดประโยชน์หลากหลายด้าน โดยในด้านการเกษตรนั้นจะทำให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้งเพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านไร่ในขณะที่น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคจะเพิ่มขึ้นปีละ300 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพิ่มพลังงานไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าเขื่อนภูมิพล ปีละ 417 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 1,100-1,200 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันก็จะยังเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและการท่องเที่ยวที่เขื่อนแม่ยวม นอกจากนี้ ยังเพิ่มปริมาณระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้กว่า 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มได้เป็นอย่างดี
ครับ ก็ต้องติดตามดูว่า เทคโนโลยีใหม่ระบบชลประทาน ในการผันน้ำยวมเติมเขื่อนภูมิพล ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้