“ผู้มีอำนาจ” น่าจะเป็นผู้ที่ถูกถามถึงมากที่สุดในทุกแวดวงสังคมไทย โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับสภาพปัญหาบางอย่างที่ไม่อาจแก้ไขได้ด้วยระบบระเบียบวิธีการหรืออำนาจตามปกติ จึงต้องร้องขอ/เรียกร้องให้ “ผู้มีอำนาจ” เหล่านั้น อาศัยอำนาจที่เขาหรือเธอมี จะโดยชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม เข้ามาตัดสินแก้ไขและเปิดทางให้สังคมคืนสู่ภาวะปกติได้
ระหว่างค้นคว้าเอกสาร ณ หอสมุดแห่งชาติ นับเป็นขณะหนึ่งของช่วงชีวิตอันมืดมนไร้ที่พึ่งในการเขียนวิทยานิพนธ์ ครั้นเมื่อจับต้นชนปลายตั้งหลักได้แล้ว พบว่า “ครู” เป็นอีกตัวละครที่ต้องครุ่นคิดในกระบวนการทำงานอันแสนยาวนานนั้น มีคำถามมากมาย ตั้งแต่สถานะ บทบาท ไปจนถึงความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา และการจะย้อนกลับไปค้นหารากเหง้าของคำตอบ จำต้องเข้าใจเหตุการณ์และเงื่อนไขในอดีตมาร่วมพิจารณา ซึ่งทำให้ความมืดมนไร้ที่พึ่งจากการเขียนวิทยานิพนธ์สักเล่มเล็กจ้อยหดหายไปถนัด เทียบไม่ได้กับชีวิตของครูไทย (และคนไทย) ที่ยังคงสิ้นหวังมาจนกระทั่งปัจจุบัน
กรณีที่จะพูดถึงต่อไปนี้ หากจะให้สรุป คือ “ครูบ้านนอก” คนหนึ่งในต้นทศวรรษ 2500 เขียนจดหมายมาระบายความคับข้องหมองใจกับ “ผู้มีอำนาจ” ในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร้องขอให้ช่วยเป็นที่พึ่งให้ความยุติธรรมต่อครูเล็กครูน้อยที่อยู่ต่างจังหวัดได้มีสิทธิ์มีเสียงบ้าง เนื้อความในจดหมายบอกบรรยายทั้งสถานะ บทบาท และความรู้สึกนึกคิดของครูคนหนึ่งใน พ.ศ. นั้นเอาไว้อย่างครบครัน บทลงเอยจบลงด้วยการที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยเรียกร้องให้ได้รับความเห็นใจในระบบอุปถัมภ์ หรือจะกล่าวว่าขอให้ได้อยู่ในระบบอุปถัมภ์บ้าง ด้วยเหตุนี้ ผู้อ่านที่จินตนาการไปถึงบทลงท้ายที่ครูคนหนึ่งลุกขึ้นมาทวงถามต่อสู้กับความอยุติธรรมจะได้รับชัยชนะ คงจะต้องผิดหวัง เพราะในประวัติศาสตร์ของคนเล็กคนน้อยยังไม่เคยมีครั้งไหนจะเรียกว่าได้รับชัยชนะอย่างเต็มภาคภูมิ มีแต่การประนีประนอมซุกปัญหาเก็บเข้าใต้พรมและลืมมันเสมอมา
ครูไพฑูรย์ เทพชัย นามนี้อาจไม่มีใครเคยได้ยินหรือมีชื่อจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์การศึกษาของไทยเลย ด้วยเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในปลายทศวรรษ 2490 ต่อต้นทศวรรษ 2500 อันเป็นช่วงที่สังคมไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอุดมการณ์หลักของชาติ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้นมักถูกอธิบายและจดจำด้วยภาพความสำเร็จมากกว่าความรู้สึกนึกคิดของผู้คนร่วมสมัย อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจสืบค้นประวัติของครูไพฑูรย์ได้มากไปกว่า “ชีวประวัติย่อๆ” ที่เขาเขียนผ่านจดหมายมาถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2500 เพื่อขอความกรุณา ช่วยเหลือ และสนับสนุนให้เขาได้เข้าอบรม ณ ศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี (Thailand UNESCO Fundamental Education Centre – ศ.อ.ศ.อ./TUFEC) ที่กระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับ UNESCO จัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2497
ศ.อ.ศ.อ. คือโครงการที่มุ่งหวังเรื่องมูลสารศึกษา (Fundamental Education) หมายถึงการศึกษาเป็นสิ่งที่จะแก้ไขสภาพเศรษฐกิจและสังคมในชนบทให้ดีขึ้น โดยต้องจัดสรรครูไปคลุกคลีกับชาวบ้านเพื่อสอนความรู้พื้นฐานทั้งการศึกษา สังคม เกษตรกรรม อนามัย และการเรือนแก่ผู้ใหญ่ โดยแนวคิดเรื่องมูลสารศึกษานั้น เจมี ทอร์เรส บอเดท (Jamie Torres Bodet) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเม็กซิโก และผู้อำนวยการ UNESCO เป็นผู้ดำริขึ้น จัดตั้งที่เม็กซิโกเป็นแห่งแรกของโลก ต่อด้วยอียิปต์ และอุบลราชธานี
ปิ่น มาลากุล
เมื่อโครงการดำเนินมาได้ระยะหนึ่งภายใต้ความช่วยเหลือจากองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งฝ่ายไทยมี นายอภัย จันทวิมล อธิบดีกรมสามัญศึกษา (กรมประชาศึกษาเดิม) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และมีเลขานุการศูนย์คนสำคัญคือ ม.ร.ว. เสริมศรี เกษมศรี ผู้มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ “ผู้มีอำนาจ/ผู้หลักผู้ใหญ่” ในเวลานั้นถึงขนาดเรียกกันว่า “คุณพี่ – คุณน้อง”
จากจดหมายฉบับดังกล่าว ความประสงค์ของครูไพฑูรย์ ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน คือต้องการเข้ารับการอบรมจาก ศ.อ.ศ.อ. ในหมวดสวัสดิภาพสังคม “…เพื่อกระผมจะได้นำความรู้ และวิทยาการใหม่ๆ ในด้านส่งเสริมสวัสดิภาพสังคมไปปฏิบัติเพื่อบริการประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเพื่อพี่น้องชาวอำเภอปาย และชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของกระผมจนสุดความสามารถต่อไป”
เมื่อพิจารณาชีวประวัติย่อๆ ของครูไพฑูรย์ที่เขียนมาถึงปลัดกระทรวงฯ เห็นว่ามีความน่าสนใจปนเห็นใจระคนกันอย่างมาก ดังครูไพฑูรย์บรรยายไว้ว่า
“กระผมลูกชาวอำเภอปายแต่ผู้เดียว ที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนมุมานะเล่าเรียนด้วยความบากบั่นอดทนได้สูงยิ่งกว่าลูกอำเภอปายทั้งหลาย คือกระผมเรียนจบชั้นประถมศึกษาจากอำเภอแล้ว ได้ไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน การไปเรียนต่อที่ตัวจังหวัด ต้องเดินทางด้วยเท้านอนแรมไปกลางป่า 6 คืน จึงถึงตัวจังหวัด กระผมเรียนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 ก็สมัครเข้าศึกษาต่อครูประกาศนียบัตรจังหวัด ที่โรงเรียนฝึกหัดครูจังหวัดเชียงใหม่ 2 ปี จบหลักสูตรแล้ว ศึกษาต่อฝึกหัดครูมูลอีก 1 ปี ที่โรงเรียนเดิม กระผมเรียนสำเร็จประโยคครูมูลเมื่อปี พ.ศ. 2486
แต่ด้วยความกระตือรือร้น รักความก้าวหน้า จึงได้สมัครเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่างกรุงเทพฯ เรียนได้ 1 ปี เกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น การคมนาคมถูกตัดขาด การส่งเงินติดขัดไม่สะดวก กระผมสู้ความกดดันทางค่าครองชีพไม่ไหว จึงได้กลับอำเภอปายภูมิลำเนาเดิม และได้สมัครเข้าเป็นครูที่โรงเรียนประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างที่รับราชการเป็นครูอยู่นี้ กระผมได้พยายามฝึกฝนศึกษาด้วยตนเอง จนสมัครสอบไล่ได้ชุดประโยคครูประถม และได้พยายามเรียนอยู่เรื่อยๆ ปัจจุบันนี้กระผมสอบชุดครูมัธยมไว้ได้ 3 ชุดแล้ว คือชุดวิชาภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์, ชุดภาษาไทย และชุดวิชาครู กระผมไต่มาตั้งแต่ชั้นครู ว. (ประกาศนียบัตรจังหวัด) ครู ป. (ประกาศนียบัตรประโยคครูมูล) ครู ป.ป. (ประกาศนียบัตรปรโยคครูประถม) และปัจจุบันค้างอีก 1 ชุด กระผมก็จะสำเร็จวิชาชุดครูมัธยม พ.ม. (ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมัธยม) แล้ว”
หากดูจากประวัติการต่อสู้ดิ้นรนพากเพียรร่ำเรียนของครูไพฑูรย์ ก็พอปะติดปะต่อได้จาก พ.ศ. 2486 คือปีที่ครูไพฑูรย์สำเร็จการศึกษาระดับประโยคครูมูล แล้วนับถอยหลังกลับไปตั้งแต่ประถมศึกษา 4 ปี มัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี ฝึกหัดครู 2 ปี และประโยคครูมูลอีก 1 ปี รวมเป็น 10 ปี ประมาณเอาว่าครูไพฑูรย์ใช้เกณฑ์การศึกษา พ.ศ.2475 ที่เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาในวัย 7 ปี เมื่อรวมแล้วครูไพฑูรย์น่าจะมีอายุ 17 ปี ตอนที่จบการศึกษาระดับประโยคครูมูล ฉะนั้นเอา 2486 ตั้ง ลบด้วย 17 ก็จะได้เลข 2469 ซึ่งคงเป็นปีเกิดของครูไพฑูรย์ ตรงกับต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พอดี และในปีที่เขียนจดหมายนั้น ครูไพฑูรย์จะมีอายุย่าง 31 ปี อยู่ในวัยคนหนุ่มไฟแรง
อ.ปาย แม่ฮ่องสอน พ.ศ.2516
บนเส้นทางชีวิตการต่อสู้ของคนเราอาจต้องพานพบอะไรต่อมิอะไรมาบ้างก็สุดจะคาดเดา ยิ่งด้วยชีวิตของครูไพฑูรย์ ผู้เรียกตนเองว่า “ลูกอำเภอปาย” ดินแดนดงดอยในหุบเขาสลับซับซ้อน กว่าจะบุกป่าฝ่าข้ามลำห้วยออกจากดงลึกมาเข้าเรียนในตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องแรมทางมากลางไพร่กว่า 6 คืน แล้วจากแม่ฮ่องสอนสู่เชียงใหม่ในยุคที่การคมนาคมยังไม่สะดวกสบายนัก ดังที่ครูไพฑูรย์ให้ภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนอำเภอปายห้วงยามนั้นไว้ว่า
“…ในท้องที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นอำเภออยู่ชายแดนเหนือสุดของประเทศไทย เป็นอำเภอที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากความเจริญ การคมนาคมก็ยากลำบากอย่างยิ่ง การติดต่อกับโลกภายนอกต้องเดินทางรอนแรมกลางป่า 3 คืนถึงจะบรรลุถึงจังหวัดเชียงใหม่ ราษฎรส่วนมากอ่อนการศึกษา พลเมืองส่วนมากเป็นชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) เคร่งครัดทางจารีตประเพณีโบราณ และเคร่งศาสนามาก พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่และการดำเนินอาชีพของชาวเมืองมาก บรรยากาศของท้องถิ่นที่อำเภอนี้แทบจะหายใจเป็นเรื่องศาสนาเสียหมด ข้าราชการผู้ใดเอาใจใส่ฝักใฝ่ในทางศาสนาและขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีของท้องถิ่น ข้าราชการผู้นั้นจะได้รับความนับถือเคารพเลื่อมใสยิ่งกว่านายอำเภอเสียอีก”
หลังจบการศึกษาจากจังหวัดเชียงใหม่ ครูไพฑูรย์ยังไม่มอดมานะ อุตสาหะบากบั่นลงมาเรียนโรงเรียนเพาะช่างในพระนครอีก แต่เคราะห์ร้ายที่เรียนได้เพียงปีเดียว สงครามโลกครั้งที่สองก็เปิดฉากขึ้น เด็กชายคนภูเขาชาวอำเภอปายที่ไร้ญาติขาดมิตรในเมืองหลวง ไม่อาจประคับประคองตัวจากภาวะข้าวยากหมากแพงเพราะพิษภัยสงครามได้ ซ้ำหนทางกลับบ้านก็ถูกตัดขาด กว่าครูไพฑูรย์จะเอาชีวิตรอดคืนถิ่นได้ ไม่รู้ต้องผ่านอุปสรรคอะไรบ้าง ครั้นพอถึงช่วงกึ่งพุทธกาลมีความประสงค์จะเข้าอบรมที่ ศ.อ.ศ.อ. อย่างแรงกล้า ถึงขนาดมีจดหมายส่วนตัวมาถึงปลัดกระทรวงฯ ใจความตอนหนึ่งว่า
“ทั้งนี้กระผมขอประทานกราบเรียนมาเป็นการส่วนตัว ขอความเมตตากรุณาจากท่าน ได้โปรดช่วยสนับสนุนและส่งเสริมกระผม ซึ่งมีคุณสมบัติและคุณวุฒิตามประเภทวิชา ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการทุกๆ ประการ ได้เข้าศึกษาต่อใน ศ.อ.ศ.อ. ตามความประสงค์ด้วย”
การที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยกล้าเสี่ยงเขียนจดหมายมาถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงนั้น ใจหนึ่งต้องคำนึงถึงเมตตาบารมีของผู้บังคับบัญชาว่าสามารถเป็นที่พึ่งพิงได้ อีกใจหนึ่งก็สะท้อนสภาพสังคมที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ซึ่งเบียดบังรังแกคนจรหมอนหมิ่นลูกตาสีตาสาไม่ให้ได้รับโอกาสในชีวิต เช่นที่ครูไพฑูรย์ชี้แจงว่า
“อีกประการหนึ่งทุกวันนี้ บางอำเภอ บางจังหวัด และบางภาคเขาไม่ค่อยช่วยสนับสนุนผู้ที่มีความรู้ มีความสนใจในการศึกษา และผู้มีความกระตือรือร้นในการศึกษา ได้เข้าศึกษาต่อตามที่เขาปรารถนา โดยมากเท่าๆ ที่แล้วมา ผู้ใหญ่ที่พิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อ มักจะมีอคติลำเอียงไม่ยุติธรรมพอ คนไหนเป็นลูกท่านหลานเธอ และเป็นพวกพ้องของผู้ใหญ่ที่มีหน้ามีตา มักจะได้รับคัดเลือกเป็นจำนวนมากเสมอ และพวกที่ได้รับคัดเลือก ซึ่งเคยมีความเป็นอยู่หรูหราโก้เก๋ มีเงินใช้จ่ายฟุ่มเฟือย พอศึกษาสำเร็จออกมา หาได้ไปทำความเจริญให้แก่ท้องถิ่นที่ทุรกันดารซึ่งต้องเร่งปรับปรุงส่งเสริมไม่ เขาเหล่านั้นกลับไปอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ที่สนุกสนาน เที่ยวเตร่สำมะเรเทเมาไปวันหนึ่งๆ ไม่เห็นได้การได้งานอะไร เสร็จแล้วก็รายงานยกเมฆมาทางกระทรวงว่าได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นการโกหกทั้งสิ้น
แท้จริงพวกที่เคยหรูหราฟุ่มเฟือยโอ้อ้าโก้เก๋เหล่านั้น หาได้กระทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ เพราะเขาไม่คุ้นเคยกับชนบทที่ทุรกันดารและไม่คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อม เขาเดินทางไปมองเห็นภูเขาสูงๆ แลเห็นแม่น้ำลำธารไหลเชี่ยวกราก เขาก็ตาลุกอกสั่นขวัญหนีเสียแล้ว กลัวไข้ป่า กลัวโรคติดต่ออย่างนั้นอย่างนี้บ้าง เขาไม่มาคลุกคลีกับชาวชนบทผู้ไร้การศึกษา ซึ่งมีความเป็นอยู่ค่อนข้างสกปรกเลย เขามักจะทำตัวเป็นนายชาวบ้าน วางท่าทางใหญ่โต อย่างนี้เราจะรู้ความจริงจากชาวบ้านได้อย่างไร เพราะไม่มีความเป็นกันเองกับเขาเหล่านั้น
ผลที่สุดรัฐบาลขาดทุนทั้งทรัพย์สินที่ส่งพวกเหล่านี้ไปศึกษาต่อแล้วไม่ได้ผลสมความมุ่งหมายของทางราชการเลย ชนบทของเราเคยมีความเป็นอยู่อย่างใด ก็คงยังอยู่ในสภาพเดิมต่อไป
ทั้งนี้เพราะท่านผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อ ไม่ค่อยคำนึงถึงข้อที่กระผมกราบเรียนมานี้ และท่านไม่ค่อยช่วยสนับสนุนคนในชนบทและในท้องถิ่นนั้นๆ ได้ไปศึกษาเล่าเรียนต่อ เพื่อว่าเมื่อเขาสำเร็จแล้ว เขาจะได้นำเอาความรู้ที่ได้เรียนมา นำไปปรับปรุงส่งเสริมชนบทบ้านเกิดเมืองนอนของเขาต่อไปอย่างแท้จริง เพราะเด็กชนบทและท้องถิ่นใด เขาย่อมคุ้นเคยรู้จักอุปนิสัยใจคอชาวบ้านในท้องถิ่น ในจังหวัดนั้น ในภาคนั้น ได้เป็นอย่างดี และเขาย่อมจะคิดปรับปรุงส่งเสริมทางด้านวัฒนธรรม ศีลธรรม และการศึกษา การสังคม ได้ดีกว่าคนในถิ่นอื่น เพราะเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเอง”
ทั้งน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความคับข้องหมองใจ และสำนวนโวหารที่บรรยายความได้อย่างเห็นภาพพจน์ โน้มน้าวให้เกิดความเห็นใจครูไพฑูรย์เหลือประมาณ จิตสำนึกรักท้องถิ่นบ้านเกิดเมืองนอนที่ครูไพฑูรย์เน้นย้ำอยู่ตลอด กลับถูกอคติส่วนตัวของ “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในระบบอุปถัมภ์บดบังจนไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนใดนอกจากส่วนตัวกับพวกพ้องบริวาร ซึ่งครูไพฑูรย์ได้แต่ชอกช้ำใจและตัดพ้อว่า
“…ความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นของกระผม เขาปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ตามบุญตามกรรม ข้าวปลาอาหารน้ำบริบูรณ์ ที่ดินยังว่างเปล่าอยู่อีกมากมาย บางคนร่ำรวยมากแต่ไม่ได้ทำประโยชน์แก่สาธารณะชน ต่างคนก็ต่างอยู่ไปวันหนึ่งๆ ไม่ได้ช่วยกันคิดแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมให้บ้านเมืองดีขึ้น เมื่อ 100 ปีมาแล้วมีสภาพความเป็นอยู่อย่างใด ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีสภาพความเป็นอยู่คงสภาพเดิมอย่างนั้น”
หลังจากจดหมายถูกส่งจากแม่ฮ่องสอนมาถึงพระนคร และความทราบถึง ม.ล.ปิ่น ปลัดกระทรวงศึกษาธิการโดยตลอดแล้ว ได้สั่งการให้นางสาวมาลี อติแพทย์ เลขานุการส่วนตัวมีหนังสือตอบกลับไปว่า
“ท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้รับจดหมายลงวันที่ 12 มกราคม 2500 ของคุณแล้ว ท่านสนใจในเรื่องราวที่คุณกราบเรียนมา จึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาช่วยเหลือเท่าที่สมควร แล้วท่านสั่งให้ดิฉันมีหนังสือตอบเรื่องการสมัครเข้าศึกษาต่อ ณ ศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี ว่าในขณะนี้ยังไม่มีการเปิดรับสมัครเข้าศึกษาต่อสำหรับประเภทนี้ทั่วทุกจังหวัด มีการเปิดรับสมัครเฉพาะจังหวัดที่ทางการดำริจะตั้งหน่วยดำเนินงานบูรณะชนบท …มีอยู่ 10 จังหวัด ไม่ได้ระบุจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าใจว่าอาจจะเปิดหน่วยดังกล่าวที่แม่ฮ่องสอนในปีต่อไป”
ดูเหมือนเรื่องราวทั้งหมดจะจบลงเพียงเท่านี้ ไม่มีร่องรอยให้สามารถสืบค้นได้จากเอกสารใดว่าครูไพฑูรย์ เทพชัย ได้เข้าศึกษาต่อกับทาง ศ.อ.ศ.อ. และ ม.ล. ปิ่น ที่ครูไพฑูรย์ยกย่องว่า “เป็นนักการศึกษาสำคัญของเมืองไทย” ได้มีการติดต่อกันอีกหรือไม่ ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของครูไพฑูรย์ต่อจากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานอะไรให้ได้รับรู้ การหวังพึ่ง “ผู้มีอำนาจ” ไม่ว่ากรณีของครูไพฑูรย์หรือใครก็ตามในสังคมไทยยังคงมีอยู่ต่อมา แต่ก็หามีระบบอื่นให้พึ่งพิงไปมากกว่าระบบอุปถัมภ์ซึ่งเป็นอำนาจนอกระบบที่ไม่ควรนิ่งเฉยเคยชิน เป็นเวลากว่าหกทศวรรษแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการและสังคมไทยยังยืนยันจะตัดขาดการติดต่อจากคนอย่างครูไพฑูรย์ เพื่อรักษาระบบอุปถัมภ์ให้เป็นเรื่องปกติ ซ้ำไม่มีทีท่าจะสร้างระบบพึ่งพาที่โปร่งใสเที่ยงธรรมโดยไม่ต้องลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นคนมาอ้อนวอนร้องขอจาก “ผู้มีอำนาจ” เสียที
หมายเหตุ: ข้อมูลทั้งหมดเรียบเรียงจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารส่วนบุคคล ม.ล. ปิ่น มาลากุล สบ.5.30/13 เรื่อง จดหมายไพฑูรย์ เทพชัย เรื่องการสมัครเป็นสมาชิก ศ.อ.ศ.อ. (พ.ศ. 2499 – 2500)