จากกรณีศาลอังกฤษตัดสินเมื่อ 31 ก.ค.66 ให้ นายณพ ณรงค์เดช และพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมราว 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท แก่ นายนพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ WEH หลังถูกนายนพพรฟ้องในข้อหาสมคบกันชักจูงใจด้วยข้อมูลลวงให้ขายหุ้น WEH
ล่าสุด รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าวว่า
“ในคดีที่ศาลอังกฤษ( High Court of Justice) ปรับใช้กฎหมายไทยตัดสินให้จำเลยหลายคนร่วมกันรับผิดทางแพ่งเป็นจำนวนเงินหลายหมื่นล้านบาท (คดี Suppipat & Ors v Narongdej & Ors) มีหลายคนสงสัยว่าทำไมศาลอังกฤษปรับใช้กฎหมายไทย และศาลอังกฤษมีวิธีการปรับใช้กฎหมายไทยอย่างไร ขอนำเสนอข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการศึกษาของผู้ที่สนใจ
คำถามแรก การปรับใช้กฎหมายต่างประเทศเป็นเรื่องปกติในการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งคู่ความอาจตกลงให้ใช้กฎหมายประเทศใดประเทศหนึ่ง (governing law) ในการระงับข้อพิพาทโดยศาลหรืออนุญาโตตุลาการ หรืออาจเกิดจากการที่กฎหมายของประเทศหนึ่งอนุญาตให้ศาลใช้กฎหมายต่างประเทศที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับข้อพิพาทในการตัดสินข้อพิพาทนั้นๆ ตัวอย่างเช่นคดีนี้ กฎหมายอังกฤษอนุญาตให้ศาลอังกฤษมีเขตอำนาจพิจารณาคดีนี้เพราะจำเลยคนหนึ่งมีสัญชาติอังกฤษ และศาลสามารถปรับใช้กฎหมายไทยได้เพราะข้อพิพาทในคดีนี้มีจุดเกาะเกี่ยวกับกฎหมายไทย
คำถามที่สอง วิธีการปรับใช้กฎหมายไทยในคดีศาลอังกฤษได้อธิบายอย่างละเอียดและชัดเจนในย่อหน้าที่ 908 ของคำพิพากษา ขอแปลเป็นไทยเพื่อประโยชน์ในการศึกษาดังต่อไปนี้
“วิธีการที่เหมาะสมในการรับฟังพยานหลักฐานของผู้เชี่ยวชาญกฎหมายต่างประเทศได้รับการสรุปไว้ในคดีที่ตัดสินเมื่อไม่นานมานี้ คดี Deutsche Bank AG London v Comune di Busto Arsizio [2021] EWHC 2706 (Comm) at [104]-[108] (Cockerill J) และคดี Banca Intesa Sanpaolo SpA v Comune di Venezia [2022] EWHC 2586 (Comm) at [120]-[127] (Foxton J) ในการตัดสินคดีนี้ข้าพเจ้า [ผู้พิพากษาอังกฤษที่ตัดสินคดีนี้ Sir Neil Calver] ได้ปรับใช้หลักการที่เดินตามแนวบรรทัดฐานในสองคดีดังกล่าว ดังต่อไปนี้
a.ศาลไม่ได้เป็นผู้ตีความกฎหมายต่างประเทศด้วยตนเอง แต่เป็นหน้าที่ของพยานผู้เชี่ยวชาญ [กฎหมายต่างประเทศ] ในการตีความผลทางกฎหมาย
b.หน้าที่ของศาลอังกฤษ คือ การประเมินพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างประเทศ และทำนายผลทางกฎหมายที่ศาลสูงสุดของระบบกฎหมายต่างประเทศนั้นๆ จะตัดสินออกมา มากกว่าการยึดถือความเห็นส่วนตนของศาลอังกฤษว่าหลักกฎหมายต่างประเทศนั้นๆ ควรจะเป็นอย่างไรหรือการปล่อยให้พยานผู้เชี่ยวชาญกดดันผู้พิพากษาอังกฤษให้ยอมรับความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อหลักกฎหมายต่างประเทศนั้นๆc. ศาลนี้อาจจะค้นหาว่าศาลต่างประเทศจะปรับใช้หลักกฎหมายซึ่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างไรเพื่อกำหนดผลทางกฎหมาย แต่ศาลนี้จะไม่ตัดสินเกินไปกว่าสถานะปัจจุบันของหลักกฎหมายต่างประเทศและจะไม่คาดการณ์แนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับกฎหมายต่างประเทศนั้นๆ
d.คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องของศาลต่างประเทศ ยิ่งเป็นศาลสูง หรือยิ่งมีจำนวนคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ยิ่งเป็นการยากสำหรับศาลอังกฤษที่จะปฏิเสธว่าคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเหล่านั้นไม่ได้บ่งบอกบอกถึงความเข้าใจในหลักกฎหมายต่างประเทศนั้นๆ
e.ถ้ามีคำพิพากษาที่ชัดเจนของศาลสูงสุดของต่างประเทศในประเด็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง [ศาลอังกฤษก็จะรับฟังคำพิพากษาของศาลสูงสุดนั้นเป็นพยานหลักฐาน] พยานหลักฐานอื่นก็จะมีน้ำหนักน้อยกว่า ศาลอังกฤษยอมรับหลักการนี้เป็นการทั่วไป แม้ว่า [ผู้พิพากษาอังกฤษคิดว่า] คำพิพากษาของศาลสูงสุดของต่างประเทศนั้นๆ จะไม่สอดคล้องกับประเพณีทางการค้า หรือการให้เหตุผลของคำพิพากษาจะไม่สมเหตุสมผลหรือไม่สอดคล้องต้องกัน เมื่อศาลอังกฤษต้องค้นหาเนื้อหาของกฎหมายต่างประเทศ ศาลอังกฤษก็จะปรับใช้กฎหมายต่างประเทศนั้นๆ แม้จะปรากฏว่ากฎหมายต่างประเทศนั้นจะมีข้อบกพร่อง หรือถูกกำหนดโดยรัฐนโยบายใดๆ ของประเทศนั้นๆ หรือไม่ว่าจะไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติ”
ปล. 1. คำพิพากษาของศาลอังกฤษถูกกำหนดให้ตีพิมพ์เผยแพร่ในเว็บไซต์ทางการที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ฟรีเพื่อความโปร่งใส
2.การทำหน้าที่ของพยานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายต่างประเทศในศาลอังกฤษมีความเคร่งครัดมาก พยานผู้เชี่ยวชาญจะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยศาล ในการอธิบายความเข้าใจและการใช้การตีความหลักกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องในลักษณะที่เป็นภววิสัยที่สุด และห้ามมิให้พยานอ้างอิงข้อเท็จจริงในคดีและห้ามมิให้ปรับใช้กฎหมายดังกล่าวกับข้อเท็จจริงในคดีโดยเด็ดขาด พยานผู้เชี่ยวชาญจึงทำหน้าที่เป็น “ตำรากฎหมายพูดได้” ให้กับศาลเท่านั้น