“แรงบันดาลใจ สร้างสรรค์ทุกสิ่ง” ขณะเดียวกัน “ใจ” ก็สามารถบันดาล “แรง” ให้คนๆ หนึ่งเดินตามความฝันไปสู่เป้าหมายได้เช่นกัน ขอส่งต่อแรงบันดาลใจ สู่ใจบันดาลแรง ในการก้าวเดินบนเส้นทางการสร้างคนของนักการศึกษา ผ่านมุมมองในการทำงาน และไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตของ 3 คณบดี จาก 3 วิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ.ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.กฤษฎา ศรีแผ้ว คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ
วิถีแห่งดนตรี… สู่เบื้องหลังแรงผลักดัน “คนดนตรี”
ผศ.ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า นักแต่งเพลงสร้างสรรค์บทเพลง นักแสดง (และผู้อำนวยเพลง) นำบทเพลงมาตีความและถ่ายทอด นักดนตรีวิทยาและนักมานุษยดนตรีวิทยาศึกษาดนตรีในมิติประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมและปรัชญา นักทฤษฎีดนตรีวิเคราะห์โครงสร้างภายในของบทเพลง
ครูสอนดนตรีศึกษาจิตวิทยาพัฒนาการและการเรียนการสอนดนตรี นักวิจารณ์ดนตรีให้แง่คิดเกี่ยวกับบทประพันธ์เพลงและการแสดง นักดนตรีบำบัดใช้ดนตรีเป็นส่วนประกอบในการบำบัดร่างกายและจิตใจ นักอะคูสติกส์แก้ปัญหาของเสียงโดยใช้ฟิสิกส์ โปรดิวเซอร์ใช้เทคโนโลยีในการช่วยผลิตเพลง ค่ายเพลงวิเคราะห์ตลาดและสร้างงาน
ผู้กำกับภาพยนตร์ผู้สร้างวิดีโอเกมผู้จัดละครและนักเต้นใช้ดนตรีเพื่อเติมเต็มงานสร้างสรรค์ของพวกเขา ผู้จัดการห้างสรรพสินค้าใช้ดนตรีในการส่งเสริมการขาย ดนตรียังเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ในแง่อื่นๆ อีกหลายประการ จริงอยู่ขาดดนตรีก็คงไม่ตาย แต่ถ้าโลกนี้ไม่มีดนตรีล่ะ…
วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นชุมชนนักดนตรีที่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน ทำงานด้วยกัน ต่างแต่งเติมเสริมต่อให้กันและกัน และต่างเติบใหญ่มาด้วยกัน เป็นสถาบันชำนาญเฉพาะทาง ซึ่งพร้อมที่จะช่วยให้นักศึกษาก้าวสู่การเป็นนักดนตรีมืออาชีพ
“ที่วิทยาลัยดนตรีเราจะได้หล่อหลอมพลังสร้างสรรค์ และทักษะการทำงานร่วมกัน เราจะต้องลงมือทำงานหนักกว่าที่เราเคยทำมาในอดีต แสดงออกถึงความทุ่มเทในศาสตร์ที่เรารักมากกว่าที่คิดว่าจะเป็นไปได้ การที่จำนวนนักศึกษาในชั้นเรียนมีน้อยคน ความร่วมมืออย่างแข็งขันจึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำ การเรียนที่วิทยาลัยดนตรีจะเข้มข้นกว่าที่เราคุ้นเคย แต่ด้วยความมุ่งมั่น
รางวัลที่เราได้รับคือ การตระหนักรู้ว่าเราคือ ศิลปินที่ผ่านการฝึกฝนแบบมืออาชีพ พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางวิชาชีพดนตรีได้อย่างเต็มภาคภูมิ ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรังสิต มรดกแห่งนวัตกรรม และการริเริ่มทดลองของใหม่ ยังสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ที่เราได้สรรค์สร้างชุมชนคนดนตรี ที่เป็นนักคิดนอกกรอบ นักสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และนักแสดงมืออาชีพ นักศึกษาในวันนี้ คุณคือ สินทรัพย์ของประเทศในวันหน้า”
เป้าหมาย-วิธีคิด บนเส้นทางชีวิตของ… วิศวกร
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า เป้าหมายที่ปราศจากการกระทำก็ไร้ความหมาย ทุกคนมีเวลาจำกัดในแต่ละวัน ดังนั้น การลำดับความสำคัญจึงเป็นสิ่งจำเป็น
มุมมองแง่คิดที่แฝงไปด้วยความหมายดีๆ ที่คณบดียึดเป็นแนวทางในการทำงานในหลากหลายบทบาทหน้าที่ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอน เป็นนักการศึกษา เป็นผู้บริหารแล้ว ทุกวันนี้ภูมิใจกับการได้เป็น “วิศวกร” ได้นำความรู้ที่มีมาใช้ในการส่งต่อความรู้ให้แก่เหล่านักศึกษาอนาคตวิศวกรอีกด้วย
โดยหลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต มีหลักสูตรที่เปิดสอน เช่น วิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอุตสาหการ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งขณะนี้กำลังจัดทำกลุ่มรายวิชาบูรณาการให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจเพื่อเป็นจุดแข็งและเพิ่มโอกาสในการหางานทำในอนาคต เช่น กลุ่มวิชาด้านหุ่นยนต์ที่เน้นในด้านการควบคุมและประยุกต์ใช้งานในการผลิต กลุ่มวิชาด้าน Internet of thing และจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาในสาขาต่างๆ ได้เรียนร่วมกันและเน้นการเรียนแบบ Project based
นอกจากนี้ ยังเปิดสอนทางด้านวิศวกรรมสาขาอื่นๆ ซึ่งรองรับความต้องการของประเทศในภาพรวมและตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ไม่ว่าจะเป็น สาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน เทคโนโลยีซ่อมบำรุงอากาศยาน และเทคโนโลยีระบบราง โดยแนวในการเรียนการสอนของวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต จะส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ และมีทักษะอันพึงประสงค์ตรงตามที่หลักสูตรได้วางไว้ จบแล้วสามารถนำไปใช้ในการทำงานได้
นอกจากการทำหน้าที่ในหลากหลายบทบาทที่เรียกว่า ตารางชีวิตแต่ละวันก็จะแน่น หากแต่เมื่อมีเวลาว่าง ไลฟ์สไตล์ของ รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ก็ไม่ต่างจากใครหลายคนกับการทำกิจกรรมที่รีแลกซ์ เช่น การไดร์ฟกอล์ฟ อ่านหนังสือ หรือดูกีฬาฟุตบอล เพราะแรงบันดาลใจบางอย่างก็เกิดจากเรื่องราวธรรมดารอบตัวนั่นเอง เพราะที่สุดแล้วการดำเนินชีวิตและการทำงานก็คือเรื่องเดียวกัน เราแค่มีเป้าหมายและทำให้ดีที่สุด
เปิดโลกกว้างสู่โอกาสที่ไร้พรมแดน PLAY AND LEARN ไปกับคณบดีอินเตอร์
ผศ.ดร.กฤษฎา ศรีแผ้ว คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ม.รังสิต กับมุมมองแง่คิดในการทำงานที่เปิดอิสระทางความคิดให้แก่ทีมงานทุกคน ในการที่จะปั้นวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้พร้อมกับการเป็นผู้สร้าง Endless Opportunities โอกาสไม่มีที่สิ้นสุด ให้แก่ทุกคน
“ เรามั่นใจว่าทุกคนมีสิทธิ์ในการกำหนดอนาคตของตัวเอง There is no elevator to success, you have to take the stairs ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยง่าย สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมคือ ตัวเราเอง ที่จะตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มากกว่าสร้างกรอบและข้อจำกัดตัวเองขึ้นมาเอง
เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ประเทศไทยยังมีงานให้เราทำหรือไม่ บริษัทที่เราจะทำงานต้องใช้ภาษาหรือไม่ อนาคตเราจะทำอะไรหรืออยู่ที่ไหน เมื่อโอกาสมา หากเราพร้อมก็จะสามารถคว้าโอกาสเหล่านั้นได้”
ทุกวันนี้เด็กหลายคนอาจจะมีความคิดว่าเรียนอินเตอร์ภาษาจะต้องดี และค่าใช้จ่ายจะต้องแพง หรือต้องไปเรียนต่างๆ ประเทศถึงจะดีที่สุด ไม่กล้าที่จะหลุดออกจากกรอบความคิดเดิมๆ ทุกอย่างสามารถฝึกฝนและเรียนรู้กันได้ เมื่อคุณกล้าก้าวข้ามความกลัวเดิมๆ หัวใจจะเติบโตพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และที่วิทยาลัยนานาชาติ ม.รังสิต พร้อมจะเปิดโอกาสให้แก่ทุกคน
“สำหรับโอกาสที่พร้อมจะเปิดโลกกว้างให้แก่นักศึกษา มีทั้งโอกาสด้านภาษา เราใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนเต็มรูปแบบ และด้วยการที่เรามีนักศึกษาต่างชาติที่มาจากเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกา หรือแม้แต่แอฟริกามาเรียนร่วมกันกว่า 50 ประเทศ ทำให้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่สูงมาก
นอกจากจะได้ฝึกการใช้ภาษาไปด้วยกัน ยังเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของเพื่อนต่างชาติไปพร้อมกันอีกด้วย โอกาสด้านการพัฒนาตนเอง ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทางวิทยาลัยจัดขึ้น โอกาสด้านการมีงานทำ และโอกาสด้านการศึกษาต่อและแลกเปลี่ยนต่างประเทศ โดยความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตร 3+1 Double Degree เรียนที่ม.รังสิต 3 ปี และเรียนที่ต่างประเทศ 1 ปี ได้ 2 ปริญญา โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฯลฯ”
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ