นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่าได้สัมมนาออนไลน์ เรื่อง “FTA ไทย – EFTA กับโมเดลเศรษฐกิจใหม่หลัง COVID-19”เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาการจัดทำ FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) โดยเชิญวิทยากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกษตรกร และประชาสังคม ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการเจรจาจัดทำ FTA ไทย – EFTA
ศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) บรรยายพิเศษ “โมเดลเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด-19” ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน อาทิ การแบ่งขั้วภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างตะวันออกและตะวันตก มาตรฐานโลกใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องธรรมาภิบาล ความโปร่งใส สิทธิมนุษยชน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลก ทำให้ไทยต้องเร่งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมถึงพัฒนาสินค้าให้มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะอาหาร สมุนไพร และเกษตรแปรรูป เน้นการค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งไทยต้องร่วมผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค
นายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัยของ IFD ได้นำเสนอผลการศึกษา การจัดทำ FTA กับ EFTA จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว ส่งผลดีต่อการส่งออกและการลงทุน โดยกลุ่มสินค้าที่จะได้ประโยชน์ เช่น ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผัก และผลไม้ สิ่งทอ/เครื่องแต่งกาย เป็นต้น ส่วนสาขาบริการที่จะได้ประโยชน์ เช่น บริการสุขภาพ โทรคมนาคม และบริการทางการเงิน เป็นต้น พร้อมเสนอให้ภาครัฐพัฒนาฐานข้อมูลตลาด EFTA เพื่อให้เอกชน โดยเฉพาะ SMEs ใช้ประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะให้กับพนักงาน พัฒนามาตรฐานสินค้า เร่งลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ตลอดจนชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบผ่านกองทุน FTA
นอกจากนี้ นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ จากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คุณนฤพนธ์ เตชะวัฒนวรรณา จากหอการค้าไทย-สวิตเซอร์แลนด์ และ ดร.ศุภฤกษ์ ชมชาญ จากหอการค้าไทย-นอร์เวย์ ระบุสนับสนุนการทำ FTA กับ EFTA เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทย ทั้งนี้ ภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมและสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งเร่งปฏิรูปกฎระเบียบของไทยให้เอื้อต่อการดึงดูดการค้าและการลงทุน
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเกษตร หากไทยจัดทำ FTA รัฐควรเตรียมความพร้อมให้กับภาคเกษตรทั้งในเชิงรุกและรับ รวมถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบที่เป็นรูปธรรม ด้านคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล จาก FTA Watch ระบุว่า ผลการศึกษา ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการเปิดเสรีบริการ ที่จะลดการผูกขาดในประเทศ ขณะเดียวกันไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องที่ EFTA ให้ความสำคัญ ทั้งด้านสังคม การเมือง และการคุ้มครองสิทธิมนุยชน สำหรับการเจรจาควรระมัดระวังในประเด็นสำคัญ อาทิ การยอมรับเงื่อนไขการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการรับรองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่จะเชื่อมโยงกับการเข้าถึงยา และการคุ้มครองการลงทุนที่อาจกระทบต่อการใช้มาตรการที่จำเป็นในการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ
ทั้งนี้ EFTA เป็นคู่ค้าลำดับที่ 12 ของไทย ในปี 2563 การค้ารวมไทย-EFTA มีมูลค่า 10,445.34 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.38 ของการค้าไทยในตลาดโลก โดยไทยส่งออกไป EFTA มูลค่า 7,799.77 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจาก EFTA มูลค่า 2,645.57 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค-ก.ค.) การค้ารวมไทย-EFTA มีมูลค่า 4,738.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27% โดยไทยส่งออกไป EFTA มูลค่า 1,032.74 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจาก EFTA มูลค่า 3,705.77 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น